ข่าว

บิ๊กโจ๊ก’ ส่ง 'หนังสือ' ถึง ‘พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์’ ให้ 'ยุติการสืบสวนสอบสวน'

บิ๊กโจ๊ก’ ส่ง 'หนังสือ' ถึง ‘พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์’ ให้ 'ยุติการสืบสวนสอบสวน'

17 มี.ค. 2567

‘บิ๊กโจ๊ก’ ส่งหนังสือถึง ‘พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์’ ให้ 'ยุติการสืบสวนสอบสวน' ชี้ดำเนินคดีอาญาซ้ำ ไม่มีอำนาจสอบสวน อ่านรายละเอียดที่นี่

วันที่ 17 มี.ค.2567 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ส่งหนังสือถึง พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจครบาล  เรื่องให้ ยุติการสืบสวนสอบสวนและปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

โดยเนื้อหาในหนังสือ สรุปว่า ตามมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งสำนวนของกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กรณีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวกรวม 5 นายว่า เรียกรับผลประโยชน์จาก เว็บพนันออนไลน์ กระทำความผิดฐานฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน โดยคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเห็นว่าคดีร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นเรื่องเดียวกันกับสำนวนการสอบสวนคดีเดิม โดยมีผู้ต้องหาเพิ่มเติมบางคนเป็นถึงข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติรับเรื่อง กล่าวหาข้าพเจ้ากับพวกรวม 5 นาย ไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ โดยให้รวมเรื่องที่กล่าวหาข้าพเจ้ากับสำนวนคดีอาญา กรณีกล่าวหาพ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย กับพวกเรียกรับผลประโยชน์จาก เว็บพนันออนไลน์ กระทำความผิดฐานฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน อีกทั้งให้เรียกสำนวนการสอบสวนเรื่องกล่าวหา พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิสมัย กับพวก และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืนมาเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ต่อมา ข้าพเจ้าทราบว่า คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน มีการนำข้อเท็จจริงจากการทำธุรกรรมการเงินและพยานหลักฐานเดิมที่มีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ ไปแล้ว ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีใหม่ที่ สน.เตาปูน ว่า กระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงิน เพราะเป็นเหตุให้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน และกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนรับผิดชอบคดีดังกล่าว โดยมี พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

 

หากแต่ทั้งสองคำสั่งดังกล่าว มี เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งเป็นบุคคลเดียวกัน และคณะพนักงานสอบสวนตามคำสั่งดังกล่าวจึงทราบข้อเท็จจริงแห่งคดีดังกล่าวว่า คดีของ สน.เตาปูน มีความเกี่ยวเนื่องกับการจับกุมตัวผู้ต้องหาส่วนหนึ่ง ดำเนินคดีที่ สภ.คอหงส์ จ.สงขลา เป็นความผิดเรื่องสมคบ ฟอกเงิน ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของ สน.เตาปูน และ สภ.คอหงส์ ได้สืบสวนสอบสวนขยายผลจากเส้นทางการเงิน และมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำผิดฐานทุจริตอีกส่วนหนึ่ง ตามคดีอาญาที่ทราบว่าส่งสำนวนการสอบสวนให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาอีกส่วนหนึ่งแล้ว”

 

ต่อมาหลังจากที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 รับเรื่องกล่าวหาข้าพเจ้าไว้ดำเนินการแล้ว คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการร้องทุกข์กล่าวหาข้าพเจ้าว่า กระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐาน ฟอกเงิน และได้มีการกระทำผิดฐาน ฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกัน ฟอกเงิน แล้ว

ต่อมา ทราบว่าพนักงานสอบสวนตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มีท่าน พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับข้าพเจ้า และศาลอาญาได้ยกคำร้อง อันถือว่ามีเจตนากลั่นแกล้งข้าพเจ้า ทั้งที่ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการตำรวจระดับสูง ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ไม่มีการออกหมายเรียกข้าพเจ้า แต่ไปยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับข้าพเจ้า ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการที่จะทำการสอบสวนในคดีที่กล่าวหาข้าพเจ้า อันเป็นการขัดต่อมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่าการที่พนักงานสอบสวน มีการกล่าวหาข้าพเจ้า เป็นการดำเนินคดีอาญาซ้ำกับคดีที่ได้มีการกล่าวหาข้าพเจ้า และส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. การที่มีการกล่าวหาและไปยื่นคำร้องขอหมายจับข้าพเจ้านั้น จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

จึงแจ้งมาเพื่อทราบว่า ท่าน ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวน และให้ยุติการสืบสวนสอบสวนคดี ของ สน.เตาปูน ซึ่งท่านเป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และ โปรดส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไปร่วมกับสำนวนคดีที่ คณะกรรมการป.ป.ช. ได้รับดำเนินดำเนินตามหน้าที่และอำนาจแล้ว เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวนไปคราวเดียวกัน และเพื่อประโยชน์ แห่งความยุติธรรมต่อไป