นายกฯ ตั้ง 3 'กรรมการสอบข้อเท็จจริง' ปม 'บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก'
KEY
POINTS
20 มี.ค. 2567 จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มาปฏิบัติราชการชั่วคราวเป็นเวลา 60 วัน ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มารักษาการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 101/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 20 มี.ค.2567 นั้น
โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีผลกระทบ
ต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การที่ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะต่อเนื่องติดต่อกัน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งกันและกัน จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแลประชาชนทั่วไป จนกระทบต่อการบริหารงานบุคคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และอาจทำให้ประโยชน์ของทางราชการเสียหาย
จึงเป็นเหตุสมควรที่สาธารณชนจะได้มีโอกาสทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันมีให้มีผู้หนึ่งผู้ใดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทรกแซงคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและให้การใช้อำนาจภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามหลักนิติธรรม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อ สาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย
1. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือ ปลัดฉิ่ง ประธานกรรมการ
2. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ
3. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
2.คณะกรรมการตาม ข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน60วัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีกได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุก15วัน
3. เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือ ประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือ หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด
4.ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติการ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนดเบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่งและคำตอบแทนตามรรคสองให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ล่าสุด มีรายงานว่านายฉัตรชัย พรหมเลิศ เเละนายชาติพงษ์ จีระพันธุ 2 ใน3 กรรมการได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐา ได้มอบนโยบาย เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเน้นให้ความเป็นธรรม ความเป็นความกลางกับทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับสังคมสามารถอธิบายได้โดยให้ให้รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีทุก15 วัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 3 คน เป็นชุดเดิมที่นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ตรวจสอบกรณีเข้าค้นบ้านพักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566