DSI เผย 'ลูกเฮียเก้า' ตัวการสำคัญ พบเคยใช้นามสกุลพี่ชายนักการเมืองดัง
'ดีเอสไอ' เผย ลูกเฮียเก้า ตัวการสำคัญคดีตีนไก่เถื่อน รับโอนเงิน-ซื้อขาย ส่งสินค้าไปยังจีน ตรวจสอบพบเปลี่ยนชื่อนามสกุล เตรียมสอบความสัมพันธ์พี่ชายนักการเมือง
เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ คุมตัว นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือมิกซ์ บุตรบุญธรรมเฮียเก้า 1 ในผู้ต้องหาคดีไก่เถื่อน สอบปากคำเพิ่มเติม หลังติดต่อขอมอบตัวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
นายเกรียงศักดิ์ สุวรรณศรี พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า นายกรินทร์เป็นคนติดต่อนำตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นตีนไก่เข้ามาในประเทศไทยกับกลุ่มของเฮียเก้า เมื่อนำเข้ามาแล้วจะนำไปผลิตที่จังหวัดนครปฐม จากนั้นจะส่งออเดอร์ไปยังประเทศจีน ทางจีนสั่งซื้อในลักษณะจ่ายไม่อั้นและจ่ายล่วงหน้า เมื่อจ่ายล่วงหน้า ทางนายกรินทร์ก็จะส่งตีนไก่ให้ประเทศจีน ซึ่งจะวนเป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้ประมาณ 200 กว่าตู้ ตั้งแต่ปี2564
ทั้งนี้นายกรินทร์ ถือเป็นตัวการสำคัญ มีหน้าที่เป็นผู้ซื้อผู้ขาย รับและโอนเงิน มีเส้นเงินเชื่อมโยงไปทุกกลุ่มที่ติดต่อกันหลายส่วน เจ้าหน้าที่เห็นเส้นเงินหมดแล้ว พยานหลักฐานชัดเจน เม็ดเงินประมาณ 2-20 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2564-2565
โดยวันนี้จะสอบปากคำเรื่องการซื้อขาย การนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ เอาตู้มาจากต่างประเทศ สำแดงเป็นสินค้าประเภทอื่น แต่ความจริงคือตีนไก่ ต่อมานำมาผลิต และนำไปส่งออกจำหน่ายยังประเทศจีน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีทั้งข้อเท็จจริงและการโอนเงินการชำระเงิน รวมถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายกรินทร์และข้าราชการทางการเมืองด้วย เนื่องจากเดิมนายกรินทร์ชื่อ นายปรีชา แซ่เจ้า ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกันกับพี่ชายนักการเมือง หลังจากนี้สอบปากคำเสร็จสิ้นจะประสานกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า นายกรินทร์มีบริษัทอยู่ 9 บริษัท แต่บริษัทที่ใช้จริงๆอยู่ประมาณ 3 บริษัท เช่น บริษัท โกลเด้น ชาวเวอร์ เทรดดิ้ง จำกัด , บริษัทพูนทรัพย์2023 จะรับโอนเงินจากต่างประเทศเพื่อชำระค่าไก่ ส่วนบริษัทอื่นจะเป็นธุรกิจอื่น แต่นำมาใช้เรื่องการนำเข้าสินค้าและส่งออกตีนไก่
ส่วนสาเหตุที่วันนี้นายกรินทร์ติดต่อมอบตัวนั้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เดินทางออกนอกประเทศตามปกติ เพราะขณะนั้นยังไม่ทราบว่ามีหมายจับ ต่อมาก็ติดต่อขอเข้ามอบตัว ตามกระบวนการยุติธรรม
ด้านพ.ต.ต. ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคดีจับกุม กล่าวว่า หากวันนี้ทำการสอบปากคำนายกรินทร์เสร็จสิ้นแล้ว จะส่งเรื่องให้รักษาการอธิบดีดีเอสไอพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากเป็นการเข้ามอบตัวและประสงค์จะต่อสู้คดี ส่วนผู้ต้องหารายอื่นในคดี127/2566 คดีเดียวกันนั้น มีการรายงานตัวทุกเดือนอยู่แล้ว
นอกจากนี้จากการได้ตรวจสอบสถานภาพของข้าราชการตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันในช่วงเวลาดังกล่าวที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังมีใครไปเกี่ยวข้องบ้าง เนื่องจากดีเอสไอได้ข้อมูลและเอกสารในการตรวจค้นพบว่า มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร กรมประมง กรมปศุสัตว ซึ่งจะตรวจสอบว่าชื่อที่ปรากฎนั้นจริงหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งข้อมูลไปสอบถามจากต้นสังกัด ยอมรับว่าบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว รอต้นสังกัดติดต่อกลับมาเพื่อประสานนัดหมายบุคคลเหล่านี้มาให้ถ้อยคำ แล้ว แม้กลุ่มผู้ต้องหาจะยังไม่ให้การถึง แต่พนักงานสอบสวนมีการสรุปข้อเท็จจริงว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้างไว้ส่วนหนึ่งแล้ว