ข่าว

นายจ้างยอมจ่าย แรงงานเมียนมาปิดล้อม เรียกเงินเยียวยาให้ 7 ศพ เซ่น 'เครนถล่ม'

นายจ้างยอมจ่าย แรงงานเมียนมาปิดล้อม เรียกเงินเยียวยาให้ 7 ศพ เซ่น 'เครนถล่ม'

30 มี.ค. 2567

ได้ข้อยุติแล้ว แรงงานเมียนมา รับข้อเสนอนายจ้างหลังปิดล้อมเรียกเงินเยียวยาให้ 7 ศพเพื่อนร่วมชาติ เสียชีวิตในเหตุ 'เครนถล่ม'

จากกรณี เครนถล่ม ทับ แรงงานเมียนมา เสียชีวิตรวม 7 ศพ ที่ไซต์ก่อสร้างโรงงานหลอมเหล็ก ม.2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ภายหลังเกิดเหตุ แรงงานเมียนมากว่า 500 คน ลุกฮือขวางไม่ให้นำศพออกจากจุดเกิดเหตุ เพื่อเรียกร้องเงินเยียวยา ศพละ 5 ล้านบาท ก่อนจะปักหลักยืดเยื้อกว่า 6 ชั่วโมง ยังตกลงกันไม่ได้ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

หนึ่งในแรงงานเผยเหตุที่ไม่เชื่อใจนายจ้าง อ้างว่า "เคยเกิดเหตุไฟชอร์ตคนตาย แต่นายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่าย พร้อมจี้ให้ตรวจสอบเนินเขาหลังโรงงาน เพราะอ้างว่ามีการฝังศพแรงงานไว้"

 

แรงงานเมียนมา

 

เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อเวลา 23.00 น.วันที่ 29 มี.ค. นางสว่างจิต เลาหโรจนพันธ์ สส.เขต5 ระยอง และ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.เขต4 ระยอง ได้เดินทางมาที่ ไซต์งานเครนถล่ม โดยร่วมกันหาทางออก กับ พล.ต.ต.พงษ์พันธ์ วงศ์มณีเทศ ผบก.ภ.จว.ระยอง พ.ต.อ.ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผกก.สภ.ปลวกแดง นายสกนธ์ กรกฎ นายอำเภอปลวกแดง รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิต และ ผู้บริหารโรงงาน นายชุติพงศ์ ได้กล่าวว่า เบื้องต้น จะให้ทางญาติผู้เสียชีวิตมาลงชื่อไว้ก่อน

 

ส่วนเรื่องเงินเยียวยาจะมีการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจะมีการเจรจาร่วมกันระหว่างนายจ้างและผู้สูญเสียอีกครั้ง 

 

แรงงานเมียนมา เครนถล่ม

ต่อมาเวลา 00:00 น. วันที่ 30 มี.ค 67 ตัวแทนจาก สหภาพแรงงานชาวเมียนมาจาก WAG ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวเมียนมา ได้เดินทางมาที่ไซต์งานเกิดเหตุ โดยมีแรงงานเมียนมา กว่าร้อยคนเดินออกมาต้อนรับ แล้วพาเข้าไปยังจุดที่ปักหลักชุมนุม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับ ก่อนที่ทั้งหมดจะเข้าไปร่วมเจรจาร่วมกับนายจ้าง ญาติผู้เสียชีวิต

 

หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายชุติพงศ์ สส.เขต3ระยอง ได้ออกมากล่าวว่า จากการร่วมการเจรจา โดยมีญาติผู้เสียชีวิต เจ้าของโรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมาและ สส.ระยอง เขต3 และเขต5 นายอำเภอปลวกแดง และ ตำรวจ สรุปว่า จะมีการทำสัญญาระหว่างนายจ้าง กับ ญาติผู้เสียชีวิต และ มีตัวแทนสหภาพแรงงานชาวเมียนมา เป็นผู้กำกับดูแล โดยตกลงเงินเยียวยากันที่ 1,600,000 บาท รวมเงินประกันสังคม ส่วนเงินเยียวยาอื่น ๆ เป็นไปตามกฎหมาย 

 

นายจ้างยอมจ่าย แรงงานเมียนมาปิดล้อม เรียกเงินเยียวยาให้ 7 ศพ เซ่น \'เครนถล่ม\'

นอกจากนี้ทางโรงงานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงานศพทั้งหมด โดยจ่ายก่อนศพละ 5 แสนบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้ภายในระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้หลังจากที่ลงนามเซ็นสัญญา ก็ต้องเปิดทางให้รถกู้ภัยนำศพผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ศพ ออกไปส่งที่ รพ.ปลวกแดง 

 

ต่อมา ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมา ได้แปลข้อตกลงเป็นภาษาเมียนมา พอพูดจบแรงงานที่ปักหลักชุมนุม ต่างก็ปรบมือยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ต่างไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว หลังจากที่ญาติผู้เสียชีวิตและตัวแทนโรงงาน ได้ลงนามในสัญญาเสร็จ แรงงานที่ปักหลักชุมนุม ก็เริ่มทยอยแยกย้ายกันออกไป เปิดทางให้รถกู้ภัยจำนวน 4 คันที่บรรทุกศพผู้เสียชีวิตจากเครนถล่ม เดินทางส่งไปชันสูตรที่ รพ.ปลวกแดง ต่อไป