ข่าว

เปิด 'แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา' รับมือ 'บัญชีม้า'

เปิด 'แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา' รับมือ 'บัญชีม้า'

03 เม.ย. 2567

'ประธานศาลฎีกา' เปิด 'แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา' รองรับอาชญากรรมซับซ้อน คุ้มครองประชาชน รับมือ 'บัญชีม้า'

วันที่ 3 เม.ย.2567 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายยอดชาย วีระพงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายอมรรัตน์ กริยาผล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลแพ่ง ร่วมพิธีเปิด แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และ แผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง

 

นางอโนชา กล่าวเปิดงานว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นอาชญากรรมที่ใช้วิธีการทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด มีบทบาทในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาชญากรหลายรายใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นช่องทางเอารัดเอาเปรียบและล่อลวงประชาชน จนได้ไปซึ่งทรัพย์สินมากมายมหาศาล

ทั้งยังใช้เป็นช่องทางการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น เพื่อเป็นช่องทางการกระทำผิด ที่เรียกว่า บัญชีม้า หรือคดี เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

หลายปีที่ผ่านมา ศาลอาญาพิจารณาพิพากษาคดีอาญา โดยยึดเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่เมื่อรูปแบบการก่ออาชญากรรม มีความซับซ้อนมากขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาญาในฐานะหนึ่งในเสาหลักของสถาบันตุลาการ จึงจำต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อสถานการณ์

ระบบการพิจารณาพิพากษาคดีแบบเดิม อาจไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันท่วงที การจัดตั้ง แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา จึงเป็นวิธีการรับมือที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และคำร้องขอใช้มาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะได้รับการชำระทางคดี โดยผู้พิพากษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

 

อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาระบบการสืบพยานหลักฐานในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการทำงานของผู้พิพากษาให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เหมาะสมกับการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพ

 

นอกจากนี้ การจัดตั้งแผนกคดีพิเศษในศาลอาญานี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญคดีชำนัญพิเศษ มีโอกาสพิจารณาพิพากษาคดีตามความถนัดของตน เป็นการนำร่องให้มีการจัดตั้งแผนกคดีพิเศษต่าง ๆ ต่อไปอีกในอนาคต

 

ขณะที่ นายสรวิศ โฆษกศาลยุติธรรม  กล่าวว่า การจัดตั้ง แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา  เนื่องจากผู้กระทำผิดใช้วิธีการที่ซับซ้อน และยังมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายรายเป็นเครือข่าย การสืบสวนตลอดจนการนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล จึงต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

 

ประธานศาลฎีกา ลงนามประกาศ ก.บ.ศ.จัดตั้งแผนกคดี ฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาให้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2567 เป็นต้นไป