'ยากันยุง' ยังทำ 'ปลอม' ยุงตาย หรือคนแย่
'ยากันยุง' ยัง 'ปลอม' แบบนี้ไม่รู้ยุงตาย หรือคนแย่กันแน่ 'อย.' เตือน มีพิษต่อคนและสัตว์ หากสูดดมในปริมาณมาก อาจปวดศีรษะ หรือถึงขั้น 'ชัก เกร็ง หมดสติ' ได้
วันที่ 9 เม.ย.2567 ตำรวจ ปอศ. นำโดย พ.ต.ต.วรรณลพ รัตนวงษ์ สว.กก.2 บก.ปอศ. พร้อมชุดปฏิบัติการที่ 3 ของ กก.2 บก.ปอศ.
ร่วมกันตรวจค้น โกดังสินค้า ไม่ติดเลขที่ ซอยจุฑามาศ 2 หมู่ 8 ต.ห้วยเกตุ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ยึด ยากันยุง เถื่อน จำนวน 269,500 ชิ้น โดยมีนายชัยรัตน์ (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่
และไม่สามารถแสดงเอกสารการนำเข้าและการชำระภาษีศุลกากรได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดสินค้าดังกล่าวไว้ และดำเนินคดี นายชัยรัตน์ ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ โดยรู้ว่าเป็นของ ที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร
ต่อมา เจ้าของ โกดังสินค้า ดังกล่าว ไม่สามารถนำเอกสารการนำเข้าและการชำระภาษีศุลกากรมาเเสดงได้ จึงดำเนินการตามกฏหมายต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศ เตือน ประชาชน ให้ซื้อยากันยุงที่มีฉลากไทย และมีเลขผลิตภัณฑ์ เนื่องจากพบว่า ยากันยุง ที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายยี่ห้อ มีสารกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyerethriods ) เมเพอร์ฟลูริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งมีพิษต่อคนและสัตว์ หากสูดดมในปริมาณมาก อาจทำให้รู้สึกมึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก เกร็ง และ หมดสติ ได้ ดังนั้นสินค้าดังกล่าวต้องขออนุญาตนำเข้า ผลิต และจำหน่าย เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพ