ข่าว

เปิด 'ผลสรุป' คดี 'ลุงเปี๊ยก' ฟัน 9 ตร. 'อรัญประเทศ' ผกก. - ประทวน พรบ.อุ้มหาย

เปิด 'ผลสรุป' คดี 'ลุงเปี๊ยก' ฟัน 9 ตร. 'อรัญประเทศ' ผกก. - ประทวน พรบ.อุ้มหาย

10 เม.ย. 2567

เปิด 'ผลสรุป' คดี 'ลุงเปี๊ยก' ฟัน 9 'ตำรวจ' สภ.อรัญประเทศ ‘ผกก. - ชั้นประทวน’ พรบ.อุ้มหาย – ม.157 – กักขังหน่วงเหนี่ยว’

คณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน คดีพิเศษ คดีลุงเปี๊ยก

วันที่ 10 เม.ย.2567 เวลา 17.00 น. ที่ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน  นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ร่วมประชุมร่วมกับ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)

 

ในคดีที่ ดีเอสไอ รับสอบสวนเป็น คดีพิเศษ นายปัญญา หรือ ลุงเปี๊ยก ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่าย ความผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พรบ.อุ้มหาย

 

โดยมี นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง เลขานุการรองอัยการสูงสุด , นายดุษฎี กลิ่นเกษร พนักงานอัยการ ,นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม , นายคณพ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการส่วนสอบสวนการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 1 เเละคณะพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ร่วมประชุม

 

โดยภายหลังประชุม นานกว่า 3 ชั่วโมง

นายวัชรินทร์ เปิดเผยว่า วันนี้ประชุมลงมติ เพื่อสรุปว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับตำรวจคนใดบ้าง มีการประชุมกันมาตั้งแต่บ่ายจนได้ข้อสรุปเรียบร้อย

 

ที่ประชุมมีมติเเจ้งข้อหา แบ่งเป็นระดับ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ รองผู้กำกับสืบสวน สารวัตรสืบสวนและรองสารวัตรสืบสวน ซึ่งอันนี้คือกลุ่มผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง และ อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่กระทำความผิดโดยตรง ในห้องสอบสวน มีตำรวจชั้นประทวน 3 นาย รวมทั้งหมด 9นาย

 

หลังจากนี้ เป็นหน้าที่ของ ดีเอสไอ ในการออกหมายเรียก แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหา ทั้ง 9 รา ยโดยกำหนดวันนัดให้มารับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 7-9 พ.ค.2567

 

ในการแจ้งข้อกล่าวหา จากการสรุปวันนี้ เป็นเพียงการพิจารณาจากหลักฐานผู้เสียหาย คือ ลุงเปี๊ยก พยานในที่เกิดเหตุ มีทั้งนักข่าวและตำรวจ เห็นว่าเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา

หลังเเจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหา ยังมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาเเสดงว่าชี้เเจงได้ เพราะทีมงานสอบสวนด้วยความบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา เราจะไม่เอาพยานหลักฐานเเค่ส่วนเดียว เราจะเปิดโอกาสให้ผู้กล่าวหาชี้เเจง

 

นายน้ำแท้ เลขานุการรองอัยการสูงสุด ฐานความผิดที่เราเริ่มพิจารณา คือ ตั้งแต่มีการจับ ลุงเปี๊ยก ไปทำให้สูญเสียอิสรภาพ และเมื่อควบคุมตัวแล้วไม่มีการแจ้งให้กับอัยการ หรือฝ่ายปกครองทราบ ตรงนี้คือการปฎิบัติหน้าที่ไม่ชอบ และภายหลังควบคุมตัวแล้ว ไม่นำ ลุงเปี๊ยก ไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนทันที แต่กลับนำเขาไปทรมาน ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ (พรบ.อุ้มหาย)

 

ส่วนพฤติการณ์ที่ไม่แจ้งการจับกุมเป็นในส่วนของการปกปิดชะตากรรม ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิ์ ในการประกันตัว ในการพบญาติเเละทนายความ ทำให้สิทธิ์ของ ลุงเปี๊ยก หายหมดเลย ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

 

ในส่วนความผิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เราจะดูว่าถ้าพบการกระทำผิด เราก็ต้องแจ้งข้อหาในส่วนนี้อีก  เท่ากับความผิด 3 ข้อหา คือ 157, พรบ.อุ้มหาย เเละ ความผิดต่อเสรีภาพกรณีหน่วงเหนี่ยวกักขัง

 

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว มาจากคดีฆาตกรรม ป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ หญิงสติไม่ดี วัย 47 ปี เเละ ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ดำเนินคดีกับ ลุงเปี๊ยก โดย ลุงเปี๊ยก รับสารภาพด้วยความมึนเมา

 

ต่อมา ปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิด ที่สื่อมวลชนหามาได้ จากจุดเกิดเหตุ พบว่า ผู้กระทำผิด เป็นกลุ่มเยาวชน 5 คน ในจำนวนนี้มี 2 คน เป็นลูกตำรวจ เเละ มีการใช้ถุงดำคลุมหัว ข่มขู่ ลุงเปี๊ยก กระทั่ง ดีเอสไอ รับเป็น คดีพิเศษ