'ตร.ไซเบอร์' รวบ 2 ตัวการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ Hybrid scam ยึดทรัพย์กว่า 200 ล้าน
'ตำรวจไซเบอร์' แถลงผลปฏิบัติการ 'TRUST NO ONE' บุกจับ ชาวจีนและสิงคโปร์ ตัวการ 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์ Hybrid scam' ขบวนการใหญ่ ยึดทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท
17 เม.ย. 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. แถลงผลการปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรข้ามโลกดังกล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนในลักษณะ Hybrid Scam ซึ่งคนร้ายใช้วิธีการชักชวนผู้เสียหายให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ปลอม จากนั้นให้ผู้เสียหายซื้อเงินสกุล USDT และโอนไปตามเลขกระเป๋าเงินดิจิทัลตามที่คนร้ายระบุ ก่อนที่จะถูกโอนเข้าบัญชีของแพลตฟอร์มเทรดเงินดิจิทัล
หลังมีการแจ้งความ ตำรวจไซเบอร์สืบสวนจนได้ข้อมูลพบว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลดังกล่าวคือ นายซู (Mr.Shaoxian Su) สัญชาติจีน อยู่ระหว่างหลบหนี และยังพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงนอมินีรูปแบบนิติบุคคลสัญชาติไทยที่เชื่อว่าจดทะเบียนเพื่ออำพรางการทำธุรกรรม
สำหรับพฤติการณ์ของคนร้ายจะใช้วิธีการสุ่มติดต่อหาประชาชนผ่านแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล ชักชวนพูดคุย และสอนการลงทุนเทรดคริปโตเคอเรนซี และจากการสืบสวนเส้นทางการเงิน พบว่าปลายทางของเงิน ถูกนำไปผ่านกระบวนการฟอกเงินด้วยระบบการเงิน
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า จากการสอบสวนขบวนการดังกล่าว ทำให้ตำรวจออกหมายจับ ได้ 26 คน และขอหมายค้นเป้าหมายสำคัญ จำนวน 4 จุด ในพื้นที่ เชียงใหม่ , ตาก , ชลบุรี และ กทม. จับผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 4 คน คือ
1.นายวศิษฎ์ อายุ 31 ปี ทำหน้าที่ ฟอกเงินผ่านดิจิทัล
2.น.ส.สิรภัทร อายุ 25 ปี เจ้าของบัญชี
3. นายตงเจี้ยน สัญชาติ จีน อายุ 45 ปี ผู้รับผลประโยชน์
4. นายเว่ย คิง เคก สัญชาติ สิงคโปร์ อายุ 41 ปี ทำหน้าที่จ้างวานเปิดบัญชีนิติบุคคลและบริหารจัดการทรัพย์สิน
โดยผู้ต้องหาทั้ง 4 ถูกแจ้งข้อหา ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนอันเป็นปกติธุระโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ,ร่วมกันเป็นอั้งยี่,ร่วมกันเป็นซ่องโจร,ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และ ร่วมกันฟอกเงินและสมคบฟอกเงิน”
ส่วนของกลางที่ยึดได้ ดังนี้ บัญชีเงินฝาก ยอดเงินจำนวนประมาณ 40 ล้านบาทเศษ , บัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท , เงินสด จำนวน 80 ล้านบาท และ รถยนต์หรู รวมมูลค่าทั้งสินประมาณ 252.5 ล้านบาท
ขณะที่นายวิทยา นิติธรรม โฆษกสำนักงาน ปปง. เปิดเผยถึงขั้นตอนการเฉลี่ยทรัพย์คืน จะให้โอกาสเจ้าของทรัพย์เข้ามาชี้แจงที่มาของทรัพย์ ภายใน 90 วัน หากชี้แจงที่มาของเงินได้ก็จะต้องคืนเจ้าของทรัพย์ แต่หากทรัพย์มาจากการกระทำความผิด ก็จะนำไปคืนให้กับผู้เสียหายที่ถูกหลอกจากขบวนการนี้
ซึ่งผู้เสียหายที่ประสงค์ขอทรัพย์คืนจะต้องทำหนังสือพร้อมหลักฐานมายัง สำนักงาน ปปง.ซึ่งจะมีการพิจารณาตรวจสอบอีก 90 วัน ก่อนจะยื่นเรื่องไปยังศาลแพ่งเพื่อตัดสินพิจารณารายชื่อ หากทรัพย์ได้มากกว่าจำนวนผู้เสียหายเสียก็สามารถคืนได้ทั้งหมด แต่หากยึดมาได้น้อยกว่าก็จะเฉลี่ยคืน
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ ตำรวจไซเบอร์ขยายผลการจับกุมขบวนการดังกล่าวตามปฏิบัติการ “TRUST NO ONE 1-5 “ และสามารถยึดทรัพย์ได้กว่า 2 พันล้านบาท และที่ผ่านมาหลังการตรวจสอบทรัพย์ในล็อตแรกมีคำสั่งให้เฉลี่ยคืนผู้เสียหาย จำนวน 600 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกระบวนการขั้นตอนของศาล โดยหากผู้เสียหายจะขอทรัพย์คืนจะใช้เวลาประมาณปีกว่า โดยแบ่งออกเป็น ผู้ต้องหาแจงทรัพย์ 90 วัน ผู้เสียหายยื่นขอทรัพย์ 90 วัน บวกลบ 20 วัน และกระบวนการศาลพิจารณา ประมาณ 1 ปี ผู้เสียหายถึงจะได้ทรัพย์คืน