ข่าว

จำคุก 20 ปี “บรรยิน” ฟอกเงินหุ้น 'เสี่ยชูวงษ์'  ยกฟ้องแม่-น้องโบรกเกอร์สาว

จำคุก 20 ปี “บรรยิน” ฟอกเงินหุ้น 'เสี่ยชูวงษ์' ยกฟ้องแม่-น้องโบรกเกอร์สาว

01 พ.ค. 2567

โดนอีกคดี ! ศาลอาญาสั่งจำคุก 20 ปี “บรรยิน” ฟอกเงินโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ ยกฟ้องแม่และน้องชาย อดีตโปรกเกอร์สาว ชี้ยังมีเหตุสงสัยเงินที่ไม่ได้มาเกี่ยวกับการกระทำผิดหรือไม่

เรื่องราวคดีของ นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตตำรวจและอดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ผู้ต้องหาคดีสำคัญอุ้มฆ่าเผานั่งยางพี่ชายผู้พิพากษา ก่อนจะถูกเปิดโปงแผนระเบิดเรือนจำเรียก ฮ.มารอรับ แต่สุดท้ายถูกจับได้จึงพยายามแขวนคอ  ปรากฎการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563

 

ต่อมา 30 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญารัชดาฯ  อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายบรรยิน จำเลยที่ 1 น.ส.ศรีธรา หรือ เพ็ญนิชชา พรหมา จำเลยที่ 2 (มารดาของน.ส.อุรชา หรือ ป้อนข้าว ) และนายประวีร์ วัชรประยงค์ยุติ หรือ นายชัยพรรณ วชิรกุลฑล จำเลยที่ 3  (น้องชายของ น.ส.อุรชา) ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  

 

 

พิพากษา ว่า นายบรรยิน จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1)(2)(3) ,60 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามป.อาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 2 ปี รวม 27 กระทง เป็นจำคุก 54 ปี เมื่อรวมโทษจำคุกแล้ว ให้จำคุกนายบรรยิน จำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.636/2563 หมายเลขแดงที่ อ.637/2563 และหมายเลขดำที่ อ.638/2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 3

คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า นายบรรยิน และ แม่ของนางสาวป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์สาวคนสนิท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าสมคบกันและร่วมกันปลอมเอกสารจำนำหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั้ง (เสี่ยจืด) นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ด้วยการลงมือชื่อไว้เพื่อจำนำหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด (มหาชน) แก้ไขสาระสำคัญจากการจำนำหุ้น เป็นการโอนหุ้นให้กับแม่ของนางสาวป้อนข้าว จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทน  เพื่อร่วมกันลักเอาหุ้นไปเป็นของตนเอง  รวม 510,000 หุ้น มูลค่า 35,050,000 บาท

 

และ นายบรรยิน จำเลยที่ 1 ร่วมกับ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล หรือ น้ำตาล อดีตสาวพริตตี้ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่าปลอมเอกสารจำนำหุ้นอันเป็นเอกสารสิทธิที่นายชูวงษ์ แซ่ตั้ง ลงลายมือชื่อไว้  โดยแก้ไขสาระสำคัญจากการจำนำหุ้นเป็นการโอนหุ้นบริษัทพลังบริสุทธิ์ (อีเอ EA ) ของนายชูวงษ์ไปให้กับ น.ส.น้ำตาล อดีตสาวพริตตี้ จำนวน 9,500,000 หุ้น คิดเป็นเงิน 228,000,000 บาท แล้วมีการขายหุ้นแล้ว โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของน้องน้ำตาล รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน  28,000,000  บาท

ทั้งนี้ การกระทำของ น.ส.อุรชา (น้องป้อนข้าว)  และน.ส.กัญฐณา (น้องน้ำตาล) เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม  ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาแล้วปรากฎตามคดีอาญา อันเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ หนังสือเดินทาง ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (14) จำเลยทั้งสามกับพวก ร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน โดยแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิด

 

โดยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ถอนเงิน โอนเงิน อันเป็นการโอนหรือรับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด  เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อน เป็นการปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน อำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินโดยรู้ในขณะที่ได้มา หรือครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบ ว่า น.ส.อุรชา (ป้อนข้าว) และ น.ส.กัญฐณา (น้ำตาล)  ร่วมกันปลอมเอกสารเพื่อโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั้ง และนำมาสู่การเสียชีวิตของนายชูวงษ์ ในคดีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการปลอมเอกสาร จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และในคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องที่ศาลอาญาพระโขนง ซึ่งทั้งสองคดี ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว

 

จำเลยที่ 1 กับ น.ส.อุรชา ร่วมกันปลอมเอกสารแล้วโอนหุ้นให้กับจำเลยที่ 2 และขายหุ้นทั้งหมดภายในระยะเวลา 40 วัน จากนั้นโอนเงินที่ได้ไปยังบัญชีธนาคารกสิกรไทย ของจำเลยที่ 2 รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 33,000,000 บาท แล้วเบิกถอนเงินสดจากบัญชีธนาคารดังกล่าวหลายครั้ง รวมถึงเบิกถอนด้วยเชียร์เช็คแล้วนำไปชำระค่าอสังหาริมทรัพย์โดนไปยังบัญชีบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ซึ่งเปิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่รับโอน หรือ โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของตนเองที่เปิดขึ้นใหม่

 


ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับ น.ส.อุรชามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ก่อนที่จะเกิดเหตุในคดีความผิด จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของจำเลยที่ 2 และ 3 พบว่ามีความเชื่อมโยงกัน กลุ่มที่ 2  น.ส.กัญฐณา รับโอนหุ้นมายังบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เปิดไว้กับบริษัทอาร์เอสบี จำกัด ซึ่งบัญชีซื้อขายผูกติดกับบัญชีธนาคารกรุงเทพ เงินที่ได้จากการขายหุ้นจำนวน 98,000,000 บาทเศษ ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าว และมีการซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์ โอนเงิน และเบิกถอนเงินสด ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าผู้ที่เป็นตัวการหลักในการทำธุรกรรมคือจำเลยที่ 1 มีการเดินทางไปธนาคารเพื่อถอนเงินสดด้วยกัน  

 

เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับน.ส.อุรชาและน.ส.กัญฐณา ปลอมเอกสารสิทธิในการโอนหุ้นของนายชูวงษ์เป็นการกระทำเพื่อมุ่งให้ได้รับประโยชน์ในมูลค่าของหุ้นนายชูวงษ์ ในส่วนวิธีการโอนหุ้น การขายหุ้น การโอนเงินและเบิกถอนเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ

 

จากข้อมูลดังกล่าว ซึ่งพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับ น.ส.อุรชา และน.ส.กัญฐณาปลอมเอกสารสิทธิในการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แม้ว่าคำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่ถือได้ว่าผลของคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้มีน้ำหนักที่ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับ น.ส.อุรชาและ น.ส.กัญฐณาปลอมเอกสารสิทธิเกี่ยวกับการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับน.ส.อุรชา และ น.ส.กัญฐณากระทำความผิดตามฟ้อง

 

ในส่วนของจำเลยที่ 2 และ 3 นั้นเห็นว่าจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และ น.ส.อุรชากระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิเพื่อประโยชน์ในการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ ขายหุ้น รับโอนเงิน ถอนเงิน และซื้อบ้าน ที่ดินอย่างไร

 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 รับโอนหุ้น ขายหุ้นของนายชูวงษ์ รับโอนเงินจากการขายหุ้น โอนเงิน ถอนเงิน นำเงินมาซื้อบ้านและที่ดิน และจำเลยที่ 3 รับโอนเงินจากจำเลยที่ 2 และถอนเงินโดยการจัดการของ น.ส.อุรชา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของน.ส.อุรชา และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และน้องชายของ น.ส.อุรชา ถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน และ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยอมรับว่า รับดำเนินการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ตามคำสั่งของ น.ส.อุรชา และโดยการจัดการของ น.ส.อุรชา ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 และ 3 รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าว เป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน หรือ จากกการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้อง

 

กรณีจึงยังมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยที่ 2 และ 3 อาจรับดำเนินการให้ น.ส.อุรชา โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 และ 3 รู้ว่าหุ้นและเงินที่ได้จากการขายหุ้น เงินที่รับโอนและโอนไปยังบัญชีธนาคารอื่น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 และ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง