ผบก.น.4 ชี้ 'พนักงานสอบสวน' บกพร่อง คดี 'อดีตผู้บริหารหญิง' เมาแล้วขับ ปี65
'ผบก.น.4' ลั่น 'พนักงานสอบสวน' สน.ประเวศ 'บกพร่อง' ในการทำสำนวนคดี 'อดีตผู้บริหารหญิง' เมาแล้วขับ เมื่อ 'ปี2565'
กรณี อดีตผู้บริหารหญิง ดีกรีระดับ ดอกเตอร์ (ดร.) โปรไฟล์การทำงานไม่ธรรมดา เคยเป็นผู้บริหาร บริษัทชั้นนำ แห่งหนึ่ง เมาแล้วขับ กรณีขับรถเบนซ์หรู ถูก ด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ เรียกตรวจ ปรากฏว่าตัวเลข ปริมาณแอลกอฮอล์ 104 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่ากฎหมายกำหนด
และระหว่างถูกคุมตัวไป สน.ประเวศ เธอได้ก่อเหตุ ถีบหน้า พ.ต.ท.ดาราธร ขจรศิลป์ รอง ผกก.5 บก.จร. และใช้ถ้อยทำรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ อาทิ ชั้นต่ำ
เหตุเกิด เมื่อช่วงกลางดึก วันที่ 23 เม.ย.2567 ต่อเนื่อง วันที่ 24 เม.ย.2567 ที่ด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ และกวดขันวินัยจราจร บริเวณฝั่งตรงข้ามมัสยิด ถนนเลียบมอเตอร์เวย์ แขวงและเขตสวนหลวง กทม.
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประวัติพบว่า เธอเคยถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ และพบว่า มีคดี เมาแล้วขับ เมื่อ วันที่17ส.ค.2565 ครั้งนั้นวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ 69 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
แต่เธอให้การปฏิเสธ ว่าไม่ได้ เมาแล้วขับ และอ้างว่าแอลกอฮอล์ที่เป่าพบ เป็นแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดจานที่ใช้ฉีดใส่ที่เป่าวัดแอลกอฮอล์ ในช่วงโควิดแพร่ระบาด นั้น
อย่างไรก็ดี พบว่า คดี เมาแล้วขับ เมื่อปี 2565 ผ่านมา 2 ปี ยังไม่ได้ส่งฟ้องศาล จนกลายเป็นประเด็น ดองสำนวน เกิดขึ้น
วันที่ 2 พ.ค.2567 พล.ต.ต.ธนันท์ธร รัตนสิทธิภาคย์ ผบก.น.4 เปิดเผยว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.สั่งตรวจสอบข้อจริงทั้งระบบ โดยให้ พ.ต.อ.นิภพล สุขนิยม รอง ผบก.น.4 เป็นประธานการสอบสวนข้อเท็จจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล แต่เบื้องต้นในส่วนคดี เมาแล้วขับ ครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2567 ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ
คดีทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ขัดขืนเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ และคดี เมาแล้วขับ โดยคดีทำร้ายร่างกายถือเป็นการกระทำที่ไม่ถึงแก่กาย(ไม่ได้รับบาดเจ็บ) แต่จากการให้สัมภาษณ์ ของผู้ต้องหากับสื่อมวลชนยอมรับว่าได้ ถีบหน้าจริง แต่มีหมวกกันน็อคกั้นไว้ พ.ต.ท.ดาราธร เป็นผู้เสียหาย ไม่ติดใจ แต่ติดใจคำพูดที่ดูถูกลูกน้องเท่านั้น
ส่วนกรณี เมาแล้วขับ พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ 104 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอน อยู่ระหว่างการพิมพ์ลายนิ้วมือ และรวบรวมพยานหลักฐาน และจะส่งฟ้องในภายหลัง
ส่วน คดีเก่า เมาแล้วขับ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565 เบื้องต้น จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีการสั่งฟ้องถือว่าเป็นความบกพร่องของพนักงานสอบสวนคนเก่า ที่อยู่ สน.ประเวศ แต่ปัจจุปันย้ายไปอีก สน.หนึ่ง (สน.นางเลิ้ง) อยู่คนละกองบังคับการกัน ตนจึงทำหนังสือรายงานส่งไป กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พิจารณาสั่งการ และตรวจสอบว่าการทำสำนวนไม่เรียบร้อย ทางผู้บังคับบัญชาก็จะตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย
ส่วนการที่พนักงานสอบสวนคนดังกล่าวอ้างว่า ทำสำนวนเสร็จเรียบร้อยก่อนโยกย้ายไป โรงพักแห่งใหม่ จะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าสำนวนคดีไม่เรียบร้อยจริง และในวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้เป่าแอลกอฮอล์ 69 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ตัวผู้ต้องหาปฏิเสธว่าได้มีการฉีดแอลกอฮอล์ บริเวณแขนลำตัว และเครื่องเป่า ทำให้แอลกอฮอล์ที่ตรวจวัดได้ ไม่ได้เกิดจากการดื่มกิน จึงร้องขอให้พนักงานสอบสวนส่ง แอลกอฮอล์ไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนจะได้รับผลตอบกลับมาว่าไม่เกี่ยวกันเลย
ผบก.น.4 กล่าวว่า สำหรับคดีที่ไม่เรียบร้อยและไม่ส่งฟ้องนั้น ขณะนี้ได้ประสานตัว อดีตผู้บริหารหญิง ว่าจะมีการนำไปส่งฟ้องในวันที่ 10 พ.ค. 67 ส่วนเรื่องความไม่เรียบร้อยของสำนวนคดี ถือว่ามีความผิดพลาด ส่วนจะพิจารณาอย่างไร ขึ้นอยู่คณะกรรมการตรวจสอบ อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับสำนวน เพราะเป็นเรื่องเล็ก แต่อาจเป็นเพราะพนักงานสอบสวน ประมาทหรือขี้เกียจ
ส่วนที่มีข้อบกพร่องแต่กลับได้เลื่อนชั้นยศ มองว่าในตอนนั้นต้นสังกัดไม่รู้เรื่องและเพิ่งมารู้ และเมื่อรู้แล้วก็ได้มีการลงโทษ ส่วนระยะเวลาที่ส่งสำนวนสั่งฟ้องล่าช้านานกว่า 2 ปีนั้น ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคในการนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องแต่อย่างใด