'อธิบดีอัยการ สคช.' พร้อมช่วยญาติเหยื่อ 'ตกท่อเสียชีวิต' ชี้โทษหนักคุก10ปี
‘โกศลวัฒน์’ อธิบดีอัยการ สคช. พร้อมช่วยเหลือกฎหมายญาติเหยื่อ 'ตกท่อเสียชีวิต' ชี้ อาจเข้าข่ายประมาททำให้ถึงเเก่ความตายโทษหนักคุก10ปี เเถมโดนเรียกค่าเสียหายจากการทำผิดด้วย
4 พ.ค. 2567 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี( สคช.) กล่าวถึงกรณีคนตกท่อกลางถนน บริเวณปากซอยลาดพร้าว 49 เสียชีวิตว่า ที่ผ่านมาเหตุเกิดที่กรุงเทพมหานคร อย่างเช่นแถวห้วยขวางเหตุการณ์ตกท่อระบายน้ำ ทางกรุงเทพมหานครจะออกมารับผิดชอบทันที ซึ่งหากผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย แต่จะเรียกค่าเสียหายจากใครต้องมาดูข้อเท็จจริงในแต่ละรายไป ถ้าเป็นพื้นที่ๆ มีการก่อสร้างนั้น ใครที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานที่ตรงนั้นต้องรับผิดชอบไป
ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากรุงเทพมหานครก็จะมีมาตรการคอยออกตรวจคอยเร่งรัดแล้วมีความรับผิดชอบดูแล ข่าวที่ออกเราไม่เห็นกรุงเทพมหานครปฏิเสธความรับผิดชอบเลย แต่ว่าในความรับผิดจริงๆ นั้นต้องดูความจริง เพราะตามกฎหมายจะบอกว่าใครมีหน้าที่ดูแลพื้นที่เกิดเหตุ กฎหมายก็จะบอกว่าถ้าเกิดเหตุแล้วถือว่าการกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ ส่วนใครอาจจะเสี่ยงมีความผิดก็ต้องแบ่งเป็นตามลำดับต้องดูว่าพื้นที่บางทีที่มีการก่อสร้าง กรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานของรัฐที่ดูแลพื้นที่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาหรือไม่ ถ้ามีผู้รับเหมาก็ต้องกระทำโดยรอบคอบตามทีโออาร์ ที่จะมีบันทึกข้อตกลงว่าต้องทำให้ปลอดภัยระดับไหน
กรณีข้อเท็จจริงที่เห็นเป็นข่าวในชั้นต้น มีบอกว่าฝาท่อที่เป็นเหล็กถูกขโมยแล้วก็ผู้รับเหมาก็เลยเอาฝาไม้อย่างหนามาปิด คำถามคือมันเพียงพอเเละเป็นการไม่ประมาทหรือไม่ เมื่อเหตุเกิดอย่างนี้พนักงานสอบสวนหรือตำรวจต้องลงไปสอบสวนเพื่อให้ได้ความว่าความตายเกิดจากความประมาทหรือไม่
ถ้าเกิดจากความประมาทก็ถือเป็นคดีเพราะไม่ใช่อุบัติเหตุเหตุสุดวิสัย เเต่จะเป็นคดีประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงความตายเป็นคดีอาญาผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดทำให้เขาตายได้ขณะเดียวกันก็อยากให้ทางญาติผู้เสียหายติดต่อเข้ามาเวลา อัยการ สคช.เราในเรื่องการดำเนินคดีเราจะยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายให้ด้วยและขณะเดียวกันอัยการจะช่วยดูให้ว่ากองทุนยุติธรรมสามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้ตามระเบียบที่มีอยู่ อัยการจะช่วยดูให้ด้วยยังไงก็ติดต่อเข้ามาเราจะช่วยดูแลผู้เสียหายให้เอง
ถ้าการกระทำถ้าสอบสวนว่ามีการประมาทขึ้นมาแล้วทำให้คนตาย ข้อหาที่พนักงานสอบสวนจะลงไปดูก็เป็นเรื่องประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นความตาย คนที่ทำประมาทก็จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะฯ ถ้าหากว่าผู้เสียชีวิตเขามีพ่อแม่มีลูกที่ต้องอุปการะคนเหล้านั้นสามารถเข้ามาเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้
เพราะฉนั้นทายาทถ้าสะดวกขอเชิญท่านเข้ามาพบอัยการคุ้มครองสิทธิ์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ใกล้บ้านท่านได้ เราช่วยดูเรื่องให้เราช่วยดูเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฏหมาย
ส่วนเจ้าภาพที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางเเพ่งเเละอาญาจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน จากข้อมูลข่าวชั้นต้นตอนนี้เราไม่สามารถยืนยันได้ แต่เท่าที่เห็นว่ามีเอกชนรับมอบพื้นที่เข้าไปและเป็นผู้รับเหมามาทำเกี่ยวกับท่อ หากเอกชนรับมอบพื้นที่นี้ไป ก็ต้องแน่แล้วว่าตรงนั้นผู้รับเหมาครอบครองพื้นที่อยู่ ผู้รับเหมาก็มีหน้าที่ๆ จะดูแลปิดฝาท่อหรือทำอุปกรณ์มาล้อมเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและต้องมีป้ายสัญญาณไม่ให้รถวิ่งมา คือต้องมีมาตรการตามทีโออาร์ในด้านความปลอดภัยว่ามีความปลอดภัยขนาดไหน ต้องไปดูว่าได้ทำหรือไม่ ถ้าเป็นความรับผิดชอบของ กฟน.ก็ต้องว่ากันเป็นตามความเป็นจริงว่ามีผู้ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ยังไง มีการตรวจงานมีการแจ้งเหตุอะไรหรือไม่ ตรงนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้อง ดูความจริงก็คงต้องสอบสวนและแจ้งข้อหาไปตามกฏหมายว่าใครรับผิดชอบและใครเป็นคนทำประมาทไปเหตุทำให้ผู้ตายเสียชีวิต
สำหรับอัตราโทษข้อหาประมาทเป็นเหตุที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กฎหมายอาญามาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท อันนี้เฉพาะส่วนอาญา ส่วนแพ่งค่าเสียหายไปเรียกร้องกันต่างหาก