'ย้อนรอยคดี' หุ้นSTARK แต่งบัญชีโกงมหาศาล
09 พ.ค. 2567
'ย้อนรอยคดี' หุ้นSTARK ที่มาที่ไปการโกงครั้งมโหฬาร การสมรู้ร่วมคิดกันแต่งบัญชี ของผู้บริหารและกรรมการบริษัท นับ 10 คน
คดีหุ้นSTARK หรือ บริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คดีที่มียอดเงินความเสียหายมูลค่ามหาศาล หลายหมื่นล้านบาท และมีผู้เสียหายจำนวนมาก
จากพฤติการณ์ ที่มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท ในปี 2564 - 2565 และเปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จ ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง
- จุดเริ่มต้นของคดี วันที่ 20 มิ.ย.2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ ) รับเป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 กรณีการทุจริตใน บริษัทสตาร์คฯ มีผู้เสียหายทั้งสิ้น 4,704 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท
- วันที่ 6 ก.ค.2566 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ บริษัทสตาร์คฯ , กรรมการ , อดีตกรรมการ และ อดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อ ดีเอสไอ
โดยผู้ถูกกล่าวหา 10 ราย ประกอบด้วย บริษัท STARK , นายชนินทร์ , นายวนรัชต์ ผู้บริหารบริษัทสีทาบ้านแห่งหนึ่ง ในฐานะอดีตผู้บริหาร STARK , นายชินวัฒน์ , นายศรัทธา , นายกิตติศักดิ์ รวมถึง บริษัทย่อยอีก 4 แห่ง
- ต่อมา ดีเอสไอ สรุปสำนวนส่ง พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กระทั่งมีการ ยื่นฟ้อง บริษัทสตาร์คฯ ต่อ ศาลอาญา โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 10 มิ.ย.2567
- จากนั้น วันที่ 27 ธ.ค.2566 ก.ล.ต. กล่าวโทษ อดีตกรรมการและผู้บริหาร STARK กับพวก 3 ราย ต่อ ดีเอสไอ กรณีขายหุ้น STARK โดยอาศัยข้อมูลภายใน ได้แก่ นายชนินทร์ , นายศรัทธา และ นางสาวยสบวร
- วันที่ 8 ก.พ. 67 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 1ใน4 บริษัทย่อยของ STARK ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน
- วันที่9ก.พ. 67 อัยการสำนักงานคดีพิเศษ ยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มเติมอีก 2 รายคือ น.ส.ยสบวร และ นายกิตติศักดิ์ ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฉ้อโกงประชาชนฯ ข้อหายักยอกทรัพย์ และข้อหาฟอกเงิน
- วันที่10ก.พ. 2567 ดีเอสไอ ยื่นคำร้องขอหมายจับ นายวนรัชต์ ผู้บริหารบริษัทสีทาบ้านแห่งหนึ่ง ในฐานะอดีตผู้บริหาร STARK ฐานเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทกระทำโดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต
- วันที่12ก.พ.2567 เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ เข้าคุมตัว นายวนรัชต์ ผู้บริหารบริษัทสีทาบ้านแห่งหนึ่ง ในฐานะอดีตผู้บริหาร STARK ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยคุมตัวขึ้นรถพยาบาล นำส่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา
ศาลสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 10 มิ.ย.2567
อย่างไรก็ดีพบว่า ศาลไม่อนุญาตประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า คดีสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก โจทก์คัดค้านการปล่อยชั่วคราว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายวนรัชต์ จึงถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำตัวไปควบคุมที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
- ด้านการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย วันที่ 22 ม.ค.2567 ตัวแทนผู้เสียหายที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้STARK ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ มีการร้องขอต่อศาล ขอให้นำทรัพย์สินจากการกระทำความผิดที่ ปปง.อายัดไว้ ส่งคืนให้กับผู้เสียหาย
- ขณะเดียวกัน ตัวแทนผู้เสียหาย ยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม(Class Action ) ต่อศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้มีคำสั่งให้มีการเยียวยาผู้เสียหาย โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่า จะรับเป็นคดีเเบบกลุ่มหรือไม่ ในวันที่ 21 มี.ค.2567