'ราชทัณฑ์' ชี้แจง ขั้นตอนกู้ชีพ 'บุ้ง ทะลุวัง' ยังสับสน
ยังไม่เคลียร์ 'กรมราชทัณฑ์' ตั้งโต๊ะแถลง ขั้นตอนการกู้ชีพ 'บุ้ง ทะลุวัง' ยังสับสน ผู้ตรวจฯลั่น หากร่างกายมาถึงจุดที่ไม่สามารถดูแลได้ ต่อให้เป็นแพทย์เทวดาก็ช่วยไม่ได้
วันที่15พ.ค.2567 ที่ กรมราชทัณฑ์ นพ.สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ , นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แถลงกรณี น.ส.เนติพร เสน่ห์คง หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมือง เสียชีวิต เมื่อวันที่14พ.ค.2567 ที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดย การเสียชีวิต อยู่ภายใต้การควบคุมของ กรมราชทัณฑ์
ทั้งนี้ ในการแถลงช่วงหนึ่ง ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ รวมถึงขั้นตอนการช่วยเหลือกู้ชีพ น.ส.เนติพร ทั้งหมด พบว่า การชี้แจงยังคงสับสนและให้ข้อมูลไม่ตรงกัน เช่น
ช่วงแรกผู้ตรวจฯ กล่าวว่า ไม่พบสัญญาณชีพ ของ น.ส.เนติพร จึงได้ฉีดยากระตุ้นหัวใจ แต่ภายหลังแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีสัญญาณชีพอ่อน ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลจึงได้ CPR ที่เตียงนอน จนมีสัญญาณชีพกลับมา ก่อนเจ้าหน้าที่จะพยุง น.ส.เนติพร ลงไปห้องรักษาพยาบาล
รวมถึงข้อมูลก่อน น.ส.เนติพร จะหมดสติไป ตอนแรกให้ข้อมูลว่าลุกไปเข้าห้องน้ำ และมีการพูดคุยกับ น.ส.ทานตะวัน ว่าปวดท้องหรือไม่ และกลับมานอนข้างกัน ภายหลังมีการให้ข้อมูลว่า น.ส.ทานตะวัน เป็นผู้ลุกไปเข้าห้องน้ำ และ น.ส.เนติพร นอนอยู่ที่เตียง
ก่อนที่ สุดท้าย ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แก้ไขว่ายังไม่แน่ใจว่า ใครเป็นคนลุกไปเข้าห้องน้ำกันแน่ แต่หลังกลับจากเข้าห้องน้ำแล้ว น.ส.เนติพร กับน.ส.ทานตะวันมีการพูดคุยกัน จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาวัดความดัน หลังจากนั้น 1- 2 นาที น.ส.เนติพร มีอาการกระตุก 1-2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบสัญญาณชีพ เป็นต้น
ส่วนกรณี น.ส.ทานตะวัน เห็นเหตุการณ์ขณะ น.ส.เนติพร มีอาการกระตุก หรือไม่ ตอนแรกให้ข้อมูลว่า น.ส.ทานตะวัน หลับอยู่ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้อย่างไร เมื่อมีคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำอยู่ ผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงให้ข้อมูลใหม่ว่า น.ส.ทานตะวัน วัดความดันอยู่ ขณะ น.ส.เนติพร มีอาการกระตุก