จนท.แจ้งความเจ้าของ หลังผลตรวจยันชัด เป็น 'ลูกเสือ' แถมโดนยึดลูกสิงโตอีก 1
จนท.แจ้งความเจ้าของฟาร์มสัตว์ จ.ฉะเชิงเทรา หลังผลตรวจยืนยันชัดว่าเป็น 'ลูกเสือโคร่ง' ไม่ใช่ 'ไลเกอร์' ตามที่อ้าง พร้อมยึดลูกสิงโต อีก1 ตัว ซึ่งลักลอบนำมาจากฟาร์ม จังหวัดนครปฐม โดยไม่ได้มีการแจ้งเคลื่อนย้าย
ความคืบหน้า กรณีที่มีการพบ ลูกเสือโคร่งกลางชุมชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อ มา เจ้าของอ้างว่าเป็นไลเกอร์ ที่นำมาทาสีเพื่อเตรียมถ่ายหนังนั้น
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) และชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 ภายใต้การอำนวยการของผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ ฟาร์มของ นายโยธิน เจ้าของสัตว์ ตัวดังกล่าว ซึ่งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
ล่าสุดผลการตรวจสอบพบว่า เป็น "ลูกเสือโคร่ง" ไม่ใช่ "ไลเกอร์" ตามที่เจ้าของ กล่าวอ้างนอก จาก นี้ จากการตรวจค้นภายในฟาร์ม ของนายโยธิน ยังพบ ลูกสิงโต 1 ตัว ซึ่งตรวจสอบไมโครชิปแล้วพบว่า นำมาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม ใน จ.นครปฐม แต่ไม่ได้มีการแจ้งการเคลื่อนย้ายอย่างถูกต้อง
เจ้าหน้าที่จึงได้ แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับ นายโยธิน ตามมาตรา 15 ฐาน "ปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) พ้นจากการดูแลของตน" มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และข้อหา ตามมาตรา 17 ฐาน "ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต" มีโทษตามมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้ง ความผิดฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าควบคุม (ลูกสิงโต) โดยไม่ได้รับอนุญาต" มีโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ ดำเนินคดีกับ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุม (สิงโต) ที่ จ.นครปฐม ที่ เป็น เจ้าของลูกสิงโต กระทำผิดตามมาตรา 19 วรรคสอง ฐาน ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการแจ้งการรับแจ้ง ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด (เคลื่อนย้ายลูกสิงโตโดยไม่ได้รับอนุญาต) มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยลูกเสือโคร่ง สัตว์ป่าของกลาง เจ้าหน้าที่ได้ ส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) เพื่อดูแลต่อไป