เปิดนาที เขื่อนหน้าวัดเชิงเลนพังถล่ม คาดสาเหตุเกิดจากน้ำกัดเซาะรุนแรง
เปิดนาทีเขื่อนหน้าวัดเชิงเลน พังถล่มลงเจ้าพระยา คาดสาเหตุเกิดจากน้ำกัดเซาะรุนแรง เร่งประสานผู้เชี่ยวชาญแก้ไขให้แข็งแรง หวั่นผลกระทบแรงฤดูน้ำหลาก
9 มิ.ย. 2567 เวลา 19.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ได้เกิดเหตุเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเชิงเลน ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พังทรุดลงมาเป็นแนวยาวเกือบ 100 ม. จึงรีบรุดเดินทางลงไปตรวจสอบ
พบพระภิกษุ และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ริมเขื่อน พระครูนนทคุณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน กล่าวให้สัมภาษณ์ว่าเกิดเหตุเขื่อนพังประมาณเวลา 17.30 น. ดีที่ช่วงกลางวันวัดมีจัดกิจกรรมแล้ว ไม่พังลงมา เขื่อนมันร้าวมานานแล้วแต่ไม่รู้จะทำยังไง ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดไม่ฝันว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
อาตมาอาจจะให้ข้อมูลมากไม่ได้เนื่องจากไม่ค่อยมีความรู้ อยากให้ทางผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลดีกว่า ซึ่งอาตมาอยากให้เปลี่ยนผู้รับเหมา เพราะชุดนี้ไม่ค่อยโอเค เคยทักท้วงไปหลายครั้งแล้วระหว่างทำงาน ปี 58 ก็เป็นผู้รับเหมาชุดนี้ ที่ทำแล้วก็พังอยากให้เปลี่ยนชุดรับเหมาจริงๆ เอาคนที่มีความรู้มีความสามารถ มากกว่านี้มาทำจะดีกว่า
นายปรีดา เชื้อผู้ดี นายก อบต.ท่าอิฐ กล่าวว่า ตนอยากให้สร้างเขื่อนให้ได้มาตรฐานและต้องป้องกันน้ำท่วมในอนาคตด้วย เขื่อนเดิมที่เคยสร้างของวัดเชิงเลนแน่นหนามาก แต่ความรู้สึกของชาวท่าอิฐและใกล้เคียงก็ดีใจที่ได้เขื่อนนี้มา เพราะอนาคตจะได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมได้
เมื่อปี 54 เราโดนหนักมาก ต่อไปกรมชลประทานต้องดูเป็นตัวอย่างว่าต้องทำเขื่อนให้แข็งแรงมากกว่านี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้ป้องกันน้ำท่วมด้วย ไม่ใช่แค่ป้องกันตลิ่ง พัง
ตนเป็นตัวแทนชาวบ้านท่าอิฐและใกล้เคียงหลายหมื่นคน ที่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ตั้งแต่อ้อมเกร็ดไปยันพระนั่งเกล้า ผลกระทบมีมากเพราะดินก็พังลงไปอีก อยากให้กรมชลประทานเข้ามาแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากให้ทำให้มั่นคงดีมากกว่านี้
ด้านนายณรงค์ แก้วเกตุ ผู้ช่วยผู้ควบคุมงานเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กล่าวว่า การทำงานอยู่ในช่วงดำเนินการอยู่ระดับหินที่ใส่ตลอดแนวพอใช้ได้ แต่มาทรุดลงอีก น้ำในแม่น้ำคงมีปริมาณเยอะ ดินที่ถมไปก็มีแรงดันขึ้นมา ทำให้คาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทรุดตัว หลังจากนี้จะประสานให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูอีกครั้ง และจะแก้ไขให้เร็วที่สุดประเมินเบื้องต้นระยะเวลาแก้ไขคงไม่นาน ส่วนเรื่องความรับผิดชอบนั้นทางผู้รับเหมาที่รับงานจากกรมชลประทานต้องรับผิดชอบแก้ไขดูแลอยู่แล้ว
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อ เวลา 10.30 น. วันที่ 10 มิ.ย. 2567 นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายทรงสิทธิ์ สุขพานิช ผอ.สำนักงานชลประทานขนาดกลางที่ 11 นายคม ภัทรกุลประเสริฐ ผอ.สักนักงานพุทธศาสนาจังหวัดนนทบุรี นายปรีดา เชื่อผู้ดี นายก อบต.ท่าอิฐ ที่ปนึกษาจุฬาราชมนตรี นายภิรมย์ ชุมนุม นายอำเภอปากเกร็ด พร้อมด้วยพระครูนนทคุณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน
ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณ เขื่อนริมน้ำเจ้าพระยาหลังวัดเชิงเลน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อตรวจสอบริมเขื่อนที่มีการพังชำรุดเสียหายยาวเกือบ 100 เมตร พร้อมประสานผู้เชี่ยวชาญกรมชลประทาน ด้านออกแบบและธรณีเร่งสำรวจสาเหตุของการทรุดตัวของเขื่อน
ที่ทำการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 วัดแสงสิริธรรม ถึงริมวัดเชิงเลนความยาวประมาณ 2,235 เมตร งบประมาณก่อสร้าง 469,887,400 บาท ซึ่งตอนนี้หมดสัญญาแล้วในปี 2565 นายสุธี กล่าวว่า จากการตรวจสอบเขื่อนที่พังประมาณ 75 เมตร ซึ่งเขื่อนตัวนี้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 63 และจุดที่พังสร้างเสร็จมาประมาณ 2 ปี แต่ที่น่าสังเกตุคือจุดนี้เท่าที่ถามคนในพื้นที่ ตรงนี้เป็นจุดน้ำแรงเพราะตรงข้ามกับเกาะเกร็ด ที่มีการจัดน้ำเข้ามา และมีน้ำวน มีโอกาสที่เขื่อนโดนกัดเซาะรุนแรงกว่าตรงอื่น
และอยู่ระหว่างการนำดินเข้าหลังเขื่อน เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบ ส่วนสาเหตุทางเทคนิคจริงๆ ต้องรอให้ทาง ผอ.ชลประทานที่ 11 ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร สิ่งที่เรากังวลและอยากฝากทางกรมชลฯ เราจะทำการป้องกันในช่วงฤดูน้ำหลากยังไง
ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. เพราะช่วงตรงนี้จะมีน้ำเอ่อล้นขึ้นมา ที่แนวกำแพงสามารถกันไว้ได้ แต่หากไม่มีกำแพงน้ำก็จะหลากเข้ามาในชุมชน เพราะฉะนั้น เราจะหาทางที่จะป้องกันน้ำหลากในช่วงฤดูน้ำไปก่อน ส่วนการทำถาวรก็ว่าไปตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป สิ่งที่จังหวัด ชุมชนท้องถิ่น หรือ ทางวัดร้องขอคือเข้ามาทำอย่างไร ที่จะกันน้ำให้ได้ในช่วงฤดูน้ำหลากนี้
ก่อนหน้านี้ ที่มีเขื่อนบริเวณปากประตูน้ำคลองบางกรวย ซึ่งตรงนั้นทราบว่ามีน้ำลงต่ำมาก และอยู่ ระหว่างการนำดินไปถมด้านหลังมีน้ำซึมในฤดูฝน ลักษณะเดียวกัน แต่ตรงนั้นเขื่อนเก่าและใช้งานมานานกว่า
ส่วนตรงนี้ คาดว่ากระแสน้ำที่แรงมีผลต่อโครงสร้าง คุยกับทาง ผอ.กรมชลประทาน คิดว่าต้องมีส่วน การออกแบบอาจจะต้องให้ทางเทคนิคตรวจสอบและให้ข้อมูล นายทรงสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมชลประทาน จะส่งผู้เชี่ยวชาญของกรมชล ด้านออกแบบและธรณีฯ ว่าสาเหตุที่มีการทรุดตัวเกิดจากอะไร
ในเบื้องต้นคือตรงนี้มีน้ำวนค่อนข้างสูง และมีระดับน้ำในแม่น้ำต่ำ เกิดการแตกต่างของ 2 ฝั่ง ระหว่างน้ำกับหลังคันค่อนข้างมาก น้ำลงมากๆ จะมีการไหลกลับเข้า ถ้าไหลรวดเร็วอาจทำให้ดินข้างล่างทรุดตัว และเกิดการเซของกำแพง ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้ามาตรวจสอบภายในวันนี้ เราตรวจสอบแล้วเขื่อนดำเนินการทำตามรูปแบบ ไม่ใช่ไม่มีเหล็ก ลักษณะของกำแพงคล้ายรั้วบ้าน ป้องกันน้ำระดับแนวตั้ง ดินข้างแม่น้ำเข้าพระยาเป็นดินอ่อน
แต่ในรูปแบบของการก่อสร้างของกรมชลประทานสามารถสร้างในดินเลนได้ เสาเข็มถึง มีการทำบันทึกแจ้งไปทางผู้รับเหมาแล้วอยู่ในระยะประกัน มีการส่งงานบางส่วนแต่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมดตามสัญญา ซึ่งจริงๆ หมดสัญญาไปในปี 65 แต่มีปัญหาเรื่องโควิด จึงทำให้ตอนนี้ยังไม่หมดสัญญา และมีแผนเฟส 3 ตอนนี้อาจจะต้องทบทวนในเรื่องของแบบการก่อสร้าง ซึ่งเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน ที่ต้องการกำแพงเขื่อนกันน้ำท่วม ตอนนี้ ก็จะทำการตรวจสอบร่วมกันกับผู้รับเหมา และให้ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการแก้ไข