ข่าว

สรุปมาให้อ่าน แบบเข้าใจง่าย ยังฟ้อง “ชู้” ได้อยู่ไหม

ย่อยมาให้อ่าน ม้วนเดียวจบ ยังฟ้อง “ชู้” ได้อยู่ไหม หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ทำเอาวงกอสซิบเมาท์กันฉ่ำ พวกแอบแซ่บ แอบได้ใจ

กลายเป็นประเด็น ทอล์คออฟเดอะทาวน์ พูดกันให้แซ่ด ว่า ต่อไปจะ ฟ้องชู้ ไม่ได้แล้ว หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 1523 วรรค 2 (กฎหมายฟ้องชู้) ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรค 1, 2 และ 3

 

หลายคนมองว่า เมื่อกฎหมายลูก คือ ประมวลกฎหมายแพ่ง ขัดหรือแย้งกับ ตัวบทกฎหมายสูงสุด คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงทำให้กฎหมายลูกใช้ไม่ได้โดยปริยาย

 

แต่คนที่เข้าใจแบบนี้ มาจากไม่ได้อ่าน คำวินิจฉัย ของ ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างละเอียด ไม่อ่านให้จบ นั่นเอง

งานนี้ บอกเลยว่า พวกแอบกิน แอบแซ่บ แอบเป็น ชู้ กัน กระหยิ่มยิ้มย่องได้ไม่นาน เพราะความจริงแล้ว คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ ออกมาตลบหลัง พวกชอบแอบแซ่บ แอบกินโดยเฉพาะ

 

ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า ''สามี จะเรียกค่าทดแทนจาก "ผู้ซึ่ง” ล่วงเกินภริยาไปในทำนอง ชู้สาว ก็ได้ และ ภรรยา จะเรียกค่าทดแทนจาก "หญิงอื่น" ที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับ สามี ในทำนอง ชู้สาว ก็ได้”

 

โดย ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า คำว่า “ผู้ซึ่ง” มีความหมายกว้างกว่า คำว่า “หญิงอื่น”

 

เมื่อ สามี พบว่า ภรรยา ของตัวเอง ไปยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นในทาง ชู้สาว สามี มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจาก "ผู้ซึ่ง” ล่วงเกิน ภรรยา ได้ ซึ่งไม่จำกัดเพศ ว่า ชาย หรือ หญิง

 

แต่หาก ภรรยา พบว่า สามี ไปมี ชู้ หรือไปแอบแซ่บกับคนอื่น กฎหมายแพ่ง ใช้คำว่า เรียกค่าทดแทนจาก "หญิงอื่น” ที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า มีความสัมพันธ์กับ สามี ในทำนอง ชู้สาว

 

นั่นหมายความว่า ภรรยา สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้จาก หญิงชู้ เท่านั้น แต่หากสามีตัวเอง ไปแอบแซ่บกับผู้ชายขึ้นมา ไม่มีข้อกฎหมายบัญญัติให้ฟ้องได้ เนื่องจากกฎหมาย ใช้คำว่า เรียกค่าทดแทนจาก “หญิงอื่น”

 

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึง วินิจฉัย ว่าข้อกฎหมายดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่บัญญัติคุ้มครองบุคคล ย่อมมีความเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิ และเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติไม่ว่าความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ ภาษา ความพิการ สถานะทางกายภาพหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล หรืออื่น ๆ จะกระทำมิได้

 

เมื่อพิจารณาจาก คำวินิจฉัย ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่า จะ ฟ้องเรียกค่าทดแทน จาก ชู้ ไม่ได้ เพียงแต่ กฎหมายข้อนี้ยังไม่ครอบคลุม ในส่วนของสิทธิ ภรรยา ในการ ฟ้องเรียกค่าทดแทน

 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า ข้อกฎหมายนี้ อยู่ระหว่างการแก้ไขให้ครอบคลุม โดยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2567ด้วย

 

โดยให้มีการแก้ไข เป็น คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่าย และจาก "ผู้ซึ่ง" ได้รับอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือ "ผู้ซึ่ง" เป็นเหตุแห่งการหย่านั้น และคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะเรียกค่าทดแทนจาก "ผู้ซึ่ง" ล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนอง ชู้สาว หรือจาก "ผู้ซึ่ง" แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ในทำนอง ชู้สาว ได้

 

โดย วุฒิสภา ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้แล้ว จะส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลใช้บังคับหลังจากการประกาศ 120 วัน

 

ทำให้ต่อไป ทั้ง สามี และ ภรรยา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกใจและนอกกาย แอบไปมี ชู้ ไปแอบแซ่บกับคนอื่น ไม่ว่าเพศไหน ทั้งชายและหญิง มีสิทธิ ฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้อย่างครอบคลุม

 

โดยระหว่างรอเวลาในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ให้ใช้กฎหมายเดิมไปก่อน

 

ทีนี้เข้าใจตรงกันนะ ว่า ทั้ง สามี และ ภรรยา สามารถ ฟ้องเรียกค่าทดแทน ชู้ ได้ตามปกติ

ข่าวยอดนิยม