ข่าว

"วิษณุ" เปิดผลสอบ "2 บิ๊ก ตร." พบขัดแย้งกันจริง - ส่งตัว "บิ๊กต่อ" กลับ "ผบ.ตร."

"วิษณุ" เปิดผลสอบ “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” พบความขัดแย้งกันจริง พร้อมส่งตัว “บิ๊กต่อ”กลับคืนเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ส่วน "บิ๊กโจ๊ก" สั่งทบทวนกรณีให้ออก

20 มิ.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลสอบกรณีความขัดแย้งภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปดังนี้

 

1.เกิดความขัดแย้งและไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความขัดแย้งมีทั้งระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับทุกฝ่าย จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกัน

 

2.ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. แต่ละท่านมีทีมงานของตัวเอง ทีมงานก็พลอยเกิดความขัดแย้งไปด้วย โดยมีคดีสำคัญ อาทิ คดี 140 ล้าน (เป้รักผู้การเท่าไหร่) , กำนันนก , มินนี่ เว็บพนันออนไลน์ , เว็นพนัน BNK และ มีคดีแยกย่อยประมาณ 10 คดี อยู่ในศาลแล้วก็มี ความขัดแย้งบางอย่างเกิดขึ้น 10 ปีมาแล้ว

3.เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการไป บางเรื่องส่งศาลก็ว่าไปตามปกติ 

 

4.บางเรื่องเกี่ยวพันกับองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ก็รับไป ทั้งหมดมีคดีที่มีเจ้าของรับไป ไม่มีคดีตกค้าง 

 

5.ข้อสรุป เนื่องจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติงานที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้ว เดิมทีเมื่อ วันที่ 20 มี.ค.2567 มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้มาช่วย แต่พอวันที่ 18 เม.ย.2567 ได้ส่งตัว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับคนเดียว แต่ในวันเดียวกันนั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุด เพื่อสอบสวนทางวินัย และตามมาด้วยคำสั่งอีกฉบับ คือให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน

 

ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักด์ ข้อสรุป สมควรให้กลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่เดิม เพราะวันนี้ไม่มีอะไรสอบสวนต่อ จากเดิมให้มาช่วยงานที่ทำเนียบระหว่างสอบข้อเท็จจริง พอสอบสวนเสร็จ หรือส่วนหนึ่งก็ไปอยู่ ป.ป.ช. จึงส่งไปดำรงตำแหน่งหน้าที่เดิม ส่วนจะตั้งกรรมการสอบวินัยเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นเรื่องของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จ

 

รายงานที่เสนอนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า พบเห็นความยุ่งยากสับสน ระหว่างอำนาจสอบสวนของหน่วยงานหลายหน่วย คดีใหญ่ๆหลายคดีประดังมาเวลาเดียวกัน คดีที่เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป.ป.ช. ปปง. ดีเอสไอ ปปท. คดีทุจริตมีเจ้าภาพหลายรายเกินไป จึงเสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรม และกฤษฎีกา ดูให้ชัดว่าอยู่ในอำนาจของใคร เป็นคู่มือให้ผู้เกี่ยวข้อง ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาโยนกันไปมา

 

โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบและมีบัญชาให้ชี้แจง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ให้ไปตรวจสอบเรื่องเขตอำนาจ เพราะอย่างศาลมีกรรมการชี้ขาด แต่ในกรณีคดีอาญาชั้นสอบสวน ไม่มีคนชี้ขาด เพราะฉะนั้นการบ้านข้อหนึ่งคือ ส่งให้กฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรมดำเนินการ

 

ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน การสั่งเป็นการสั่งตามแบบ ที่เคยสั่ง ในอดีต ตาม ม.132 พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2505 แต่อย่างไรก็ตามใน พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2565 เพิ่มกรณีที่การสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ไปกระทบต่อสิทธิต่อของบุคคลนั้น ต้องทำโดยคำแนะนำหรือเสนอแนะจากกรรมการสอบสวน ปรากฏว่า วันที่ 18 เม.ย.2567 มีการออก3คำสั่งติดต่อกัน คือ 1.เรียกกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.ตั้งกรรมการสอบวินัย 3.ให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที

 

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติเอกฉันท์ 10 ต่อ 0 ว่าการออกจากราชการไว้ก่อน ที่กระทบต่อสิทธิหน้าที่ เงินเดือนไม่ได้ กระทบสิทธิการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง แสดงว่าเสียสิทธิประโยชน์ จึงต้องทำโดยกรรมการสอบสวน

 

ปรากฏว่าเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านโดยคณะกรรมการสอบสวน ทางกฤษฎีกาจึงเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม ก็สมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย เป็นอำนาจของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการต่อไป

 

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อู่ระหว่างการพิจารณา

ข่าวที่น่าสนใจ