ข่าว

ย้อนประวัติ ชนินทร์ เย็นสุดใจ มือ ดีลเมกเกอร์ ระดับประเทศ สู่ผู้ต้องหาฉ้อโกง

ย้อนประวัติ ชนินทร์ เย็นสุดใจ มือ ดีลเมกเกอร์ ระดับประเทศ สู่ผู้ต้องหาฉ้อโกง

22 มิ.ย. 2567

ย้อนประวัติ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” จากมือ “ดีลเมกเกอร์” ระดับประเทศ สู่ผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชน มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

หากกล่าวถึง บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่สร้างประวัติศาสตร์ฉาว โดยมี "ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้บริหารในขณะนั้น ร่วมกันตกแต่งบัญชี ปั้นยอดขายเทียมจนเกิดความเสียหายในวงกว้าง มีผู้ได้รับความเสียหายหลายระดับตั้งแต่สถาบันไปจนถึงรายย่อย 

 

6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ 

 

รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ออกหมายจับ "ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานกรรมการ STARK หลังพบว่า ได้หลบหนีออกประเทศ หลังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตบริษัท STAR รวมไปถึงผู้แทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STARK จำนวนมากกว่า 11,000 ราย ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย ได้เข้าร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI เพื่อให้เร่งดำเนินคดี  ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.หลักทรัพย์ 

 

 

ย้อนประวัติ "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" จากผู้บริหารรัดบสูง STARK สู่ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน

 

“ชนินทร์” เรียกได้ว่าเป็น “ดีลเมกเกอร์” จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาโท บริหารธุรกิจ Worcester Polytechnic Institute Worcester, MASS, USA มีชื่อเสียงในวงการธุรกิจ เข้าโลดแล่นในวงการการเงิน - ตลาดทุนไทยมาตลอด 

 

“ชนินทร์” ถือเป็นนักแก้หนี้ให้หลายกิจการขนาดใหญ่ จนทำให้มีชื่อเสียงในวงกว้างในตลาดทุน คือ การฟื้นฟูกิจการธุรกิจในกลุ่มของ “วิชัย ทองแตง” 

 

ในปี 2546 "ชนินทร์” นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด, บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 1,2 และ 3   จนปี 2543 เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เปาโลเมดิค จำกัด  ภายใต้เจ้าของที่ชื่อ “วิชัย ทองแตง” ก่อนที่จะเกิดดีลใหญ่ในกลุ่มโรงพยาบาลหลัง กลุ่ม BDMS เข้าเทคโอเวอร์ ปี 2554

 

 

 

 

จากนั้น “ชนินทร์” ก็เข้ามาเป็น กรรมการบริษัท บริษัท ไมโครเนติค จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน)ในปีเดียวกันจากนั้นนั่งแท่นตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในปี 2554

 

ต่อมา "ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ " เจ้าของธุรกิจสีทาบ้าน บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA มูลค่าระดับหมื่นล้าน ดึงตัว “ชนินทร์” มาเป็นประธานกรรมการ บมจ.เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) หรือ SWC ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจภายใต้ บริษัท ทีโอเอ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (TOAGH)

 

กระทั่งในปี 2562 ได้รับความไว้วางใจจาก “ตระกูลตั้งคารวคุณ” ให้เข้ามาจัดโครงสร้างทางการเงินให้กับ STARK ในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ถูกยกให้เป็นมือขวาทางการเงิน และได้สร้างเรื่องฉาวสะเทือนวงการตลาดทุนดังกล่าว   


 
ต่อมาวันที่ 18 เม.ย.2566 “ชนินทร์” ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท STARK พร้อมกรรมการคนอื่นๆ รวม 7 คน อ้างติดภารกิจส่วนตัว จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ 

 

โดยหลังนั้นทรายบว่า นายชนินทร์  ได้หลบหนีออกนอกประเทศ หลังถูก DSI ออกหมายจับ จนกระทั่งมีข้อมูลว่า นายชนินทร์ ได้หลบหนีไปยัง นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางรัฐบาลไทย จึงได้ประสานไปยังสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขอให้ดำเนินการติดตามจับกุม จนกระทั่งสามารถจับกุมตัวนายชนินทร์ ได้ และจะนำตัวกลับไทยในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย) เพื่อมาดำเนินคดี 

 

 

ที่มาข้อมูล : posttoday / bangkokbiznews