ข่าว

จับตาถก “ก.ตร.” วาระปมให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการ 26 มิ.ย.67

จับตาถก “ก.ตร.” วาระปมให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการ 26 มิ.ย.67

22 มิ.ย. 2567

“นายกฯ” นัดประชุม “ก.ตร.” วันที่ 26 มิ.ย.67 จับตาถกวาระ คำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

22 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร. ) จะเดินทางไปเป็นประธานฯ การประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 5/2567 ในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือ

 

วาระเรื่องเสนอพิจารณาการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ ตร. กรณี ตร. มีคำสั่งที่ 177/2567 ลง 18 เม.ย. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการตำรวจ กรณี ตร. มีคำสั่งที่ 178/2567 ลง 18 เม.ย.67 ให้ข้าราชการตำรวจ ออกจากราชการไว้ก่อน

โดยมีการจับตาว่า ที่ประชุมจะหยิบผลสรุปการสอบสวนของอนุกรรมการวินัยฯ ที่มีผลสรุปคำสั่ง ตร.ที่ 177,178/2567 เรื่องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. หรือ บิ๊กโจ๊ก ออกจากราชการใว้ก่อน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ประชุม ก.ตร. อาจมีการพิจารณาว่า จะมีมติให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการด้วยหรือไม่

 

ด้าน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ยื่นเรื่องให้ ก.ตร.พิจารณา 2 ครั้ง เพื่อให้ ก.ตร. มีมติให้ผบ.ตร.ยกเลิกคำสั่ง โดยอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย

 

โดยในครั้งที่ 2 ได้แนบบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สรุปว่าคำสั่งไม่ชอบ ซึ่งทางก.ตร.ได้ส่งเรื่องให้อนุฯ ก.ตร.วินัย พิจารณากลั่นกรอง ก่อนนำเสนอเข้าก.ตร.ชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้โดยปกติหากอนุฯ ก.ตร.มีมติอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

 

"อย่างไรก็ตาม ก.ตร. อาจไม่เห็นด้วยก็ได้ และอาจมีมติให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ยกเลิกคำสั่ง เพราะว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อยู่ดีๆ ไปยกเลิกคำสั่ง ตัวเองก็ติดคุก ไม่มีหลังพิง จะอ้างว่ากฤษฎีกามีความเห็นมาก็ไม่เพียงพอ อย่างที่ผมย้ำ ความเห็นของกฤษฎีกาอย่างที่นายวิษณุ ฟันธง มันเป็นเพียงแค่ข้อสังเกตเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็น เพราะหากเป็นความเห็นของกฤษฎีกา ใครถามอะไรไปอันนี้ต้องปฏิบัติตาม" พล.ต.อ.เอกระบุ

 

พล.ต.อ.เอก กล่าวต่อไปว่า ในกรณีดังกล่าวทางสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาไป 2 เรื่อง เรื่องแรกถามว่าจะต้องกราบบังคมทูลหรือไม่ ส่วนเรื่องที่สองถามว่าจะต้องกราบบังคมทูลเมื่อไหร่

 

แต่ปรากฏว่าคณะกรรมกฤษฎีตอบ 2 อย่างไม่พอ ยังมีแถมข้อสังเกตมาด้วย ตรงนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดว่า หากหน่วยงานของรัฐสอบถามประเด็นในข้อกฎหมายเรื่องใด หากกฤษฎีกาชี้มาอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่กรณีนี้เป็นเพียงข้อสังเกตที่ไม่ได้มีการสอบถาม จึงเป็นดุลพินิจของแต่ละหน่วยงานว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้

 

"คงต้องรอดูว่าก.ตร.จะพิจารณาอย่างไร หากก.ตร.เห็นว่านายวิษณุพูดมามีเหตุมีผลก็สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกคำสั่ง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องที่แปลก เพราะเท่ากับ ก.ตร. มาหัก อนุฯ ก.ตร.ที่เป็นลูกน้องตัวเอง"พล.ต.อ.เอก กล่าวและว่า ทางออกที่ดีควรจะรอการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งตรงนี้มีผลผูกพันตามกฎหมาย ไม่เหมือนกับความเห็นของกฤษฎีกา เพราะการวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร.กฎหมายบอกเลยว่าให้เป็นที่สุด หากชี้ว่าคำสั่งมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อุทธรณ์ฎีกาอะไรไม่ได้เลย  ต้องรับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการทันที หากไม่ทำถือว่าผิดวินัย ติดคุกเลย แต่ในทางกลับกันหากวินิจฉัยแล้วไม่เป็นคุณ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ยังสามารถไปฟ้องศาลปกครองสูงสุดต่อไป