ข่าว

“บิ๊กโจ๊ก” ไม่ยอมความ “บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมฟ้อง "บิ๊กต่าย" กรณีให้ออกราชการ

“บิ๊กโจ๊ก” ไม่ยอมความ “บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมฟ้อง "บิ๊กต่าย" กรณีให้ออกราชการ

24 มิ.ย. 2567

งานนี้ไม่มียอมความ “บิ๊กโจ๊ก” ลั่นยื่นฟ้อง “บิ๊กเต่า” เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง ไม่ขอไกล่เกลี่ยใดๆ เตรียมฟ้อง "บิ๊กต่าย" กรณีให้ออกราชการไว้ก่อน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. 24 มิ.ย.2567 ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เดินทางมาตามนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผบช.ก. ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เดินทางมาศาลตามนัดไต่สวนมูลฟ้อง เบื้องต้นทราบว่าฝั่งของพล.ต.ต.จรูญเกียติ ขอเลื่อนการนัดไต่สวนคาดว่าจะมีการนัดไต่สวนในครั้งหน้า ส่วนที่มีการจงใจใส่ความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้น เนื่องจากผู้ถูกฟ้องได้นำข้อมูล ซึ่งอยู่ในสำนวนไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

 

 

โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ มีหน้าที่เป็นเพียงพนักงานสอบสวน สิ่งที่ทำได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 คือการรวบรวมข้อมูล และส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้มีอำนาจในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน รวมถึงแสดงความคิดเห็นวินิจฉัยคดี หรือพิพากษาคดี

 

จึงทำให้สังคมเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดไปแล้ว จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องเพื่อ คืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง ที่ผ่านมาเคยมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในคดีที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือวินิจฉัยคดี ชี้นำสังคมซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษา จำคุกไปแล้ว ยืนยันจะไม่มีการยอมความ หรือไกล่เกลี่ยอย่างแน่นอน

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึง กรณีที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หากได้กลับเข้ามาสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะถอนฟ้องคดีความทั้งหมด แต่กลับยังเดินหน้าฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ใช่การกลืนน้ำลาย แต่ต้องเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง และ ยืนยันว่า ไม่ได้เล่นปาหี่

 

แต่ขณะนี้คำสั่งที่ให้ตนเองออกจากราชการ ซึ่งกฤษฎีกามีความเห็น ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายและ สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปดำเนินการแก้ไขนั้นยังคงอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รอให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ดำเนินการแก้ไข ตั้งแต่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการ ผบ.ตร. แล้ว แต่กลับยังเพิกเฉย

 

ในวันนี้ (24 มิ.ย.) จะไปร้อง ป.ป.ช. เอาผิด มาตรา 157 กับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เพราะคำสั่งดังกล่าว จะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รองผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนก่อน ทำให้คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่กลับเข้าสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. หากยังไม่ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหน้าที่ในฐานะ ผบ.ตร. ที่มีอำนาจ ก็จะเดินหน้าฟ้องร้องในสัปดาห์หน้าด้วย

 

ส่วนกูรูที่พยายามออกมาให้คำแนะนำข้อกฎหมายกับอนุฯ ก.ตร. ว่า คำสั่งของพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ชอบด้วยกฎหมายนั้น ซึ่งขัดกับคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ถือเป็นมือกฎหมายของรัฐบาลนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า ตามหลักกฎหมายอนุฯ ก.ตร. ไม่มีหน้าที่วินิจฉัยคำร้องทุกข์ แต่เป็นอำนาจของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ที่มีอำนาจใช้ระบบการไต่สวนฟังความทั้ง 2 ด้าน

 

ไม่เหมือนอนุฯ ก.ตร. ที่ฟังความข้างเดียว จึงต้องไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ ก.พค.ตร. เพราะสามารถทำได้ 2 ช่องทาง ทั้ง ก.ตร. และ ก.พค.ตร. และเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. ซึ่งมีอำนาจนำเรื่องเข้าที่ประชุมและพิจารณาได้ ว่า เห็นด้วยหรือไม่ได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีเพิกเฉยในการพิจารณา ก็จะดำเนินคดี ม.157 กับนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

 

ส่วนกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีมติ 10:0 ว่า คำสั่งให้ตัวเองออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติดังกล่าวจะทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับมาทำหน้าที่ รองผบ.ตร. เลยหรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า ส่วนตัวไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพราะถือเป็นศาลปกครองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีอำนาจชี้ว่าจะให้กลับไปทำหน้าเลยได้หรือไม่

 

แม้ว่าผลของกฤษฎีกา จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่กฤษฎีกาถือเป็นมือกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาในคดีอื่นๆ ศาลก็รับฟังความเห็นของกฤษฎีกา พร้อมย้ำว่า อย่าลืมว่า องค์คณะกรรมการกฤษฎีกามีใครบ้าง มีทั้ง อดีตประธานศาลฎีกา / อดีตเลขากฤษฎีกา และปลัดกระทรวงยุติธรรม ฉะนั้นมติ 10:0 ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

 

ส่วน พล.ต.อสุรเชษฐ์ จะกลับเข้า ตร. เมื่อไหร่ บอกว่า จะกลับหรือไม่นั้น ต้องว่าไปตามกฎหมาย พร้อมบอกว่า “ถ้าวันนี้ยังให้ความยุติธรรมกับตัวเองไม่ได้ แล้วจะให้ความยุติธรรมกับตำรวจ และประชาชนได้อย่างไร”

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หลายฝ่ายมองว่า เรื่องการกลับเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีดีลให้ทุกคนกลับเข้ารับตำแหน่งเหมือนเดิมอยู่แล้ว และจบเหมือนละครแฮปปี้เอนดิ้งใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ตนเองเป็นคนที่ยึดตามหลักการแบบนี้มานานแล้ว เหมือนในอดีตที่เคยฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่ายึดหลักยุติธรรม ซึ่งครั้งนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการกลั่นแกล้ง รังแก ตัดแข้งตัดขา และสังคมก็เห็นได้ชัดอยู่แล้ว

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ย้อนถามกลับว่า ทำไมถึงไม่เพิกถอนคำสั่งออกจากข้าราชการเสียที ปล่อยให้เป็น รอง ผบ.ตร. ลอยไปลอยมาแบบนี้ ตามหลักแล้ว สามารถเข้าประชุม ก.ตร. ได้ แต่ไม่เลือกที่จะทำเพราะถือเป็นการให้เกียรติ พร้อมยืนยันว่า ตนเองยังมีสถานะเป็น รอง ผบ.ตร. อยู่ หากตนเองได้กลับไป จะไปดูคำสั่งให้ออกจากราชการที่มีตำรวจถูกสั่งให้ออกราชการ 70-80 นาย ก่อนหน้านี้ ว่าเป็นธรรมหรือไม่

 

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีได้บอกว่า หากส่งทั้งคู่กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหวังว่าจะปรองดองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นองค์กรใหญ่ จะปรองดองหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกฯ ซึ่งนายกฯ จะต้องเดินหน้า ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ลอยตัว ถ้านายกฯ ไม่ตัดสินใจ องค์กรก็จะอยู่ไปแบบนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำ

 

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ ออกมาแถลงแทนนายกฯ ในคำสั่งย้ายกลับ ผบ.ตร. จะถือเป็นการลอยตัวของนายกฯ หรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า นายกฯ จะต้องทำหน้าที่ ถ้าท่านไม่ลอยตัวและตัดสินใจทุกอย่างก็จะไม่เกิด ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับผู้นำ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีรัฐมนตรีประจำกระทรวง ฉะนั้นนายกฯ ก็เปรียบเหมือนรัฐมนตรีประจำกระทรวง เมื่อมีปัญหาจะต้องลงมาแก้ไข

 

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึง เหตุผลที่มีการไปร้อง ก.ตร. เนื่องจากว่าการร้องทำได้ 2 ส่วน นั่นคือการร้องพิทักษ์คุณธรรม และร้องต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. แต่ในวันนี้นายกรัฐมนตรี ต้องมีการเอาเข้าที่ประชุม ก.ตร.  เพื่อไม่ให้มีใครเสียหน้า โดยการใช้มติ ก.ตร. ไปสั่ง รักษาการ ผบ.ตร. ให้เพิกถอนแก้ไขคำสั่ง

 

แต่ทางนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการเพิกถอน ตนจึงมีการไปยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อที่จะเป็นการเตือน ว่า นายกรัฐมนตรี สวมหมวก 2 ใบ เป็นประธาน ก.ตร. และเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้บังคับบัญชา ผบ.ตร. เมื่อนายกออกมาพูดแล้วว่าคำสั่งไม่สมบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รู้อยู่แล้วว่าผู้ใต้บังคับบัญชาตัวเอง คือ ผบ.ตร. ปฏิบัติไม่ถูกต้องนายกฯก็ต้องสั่ง ผบ.ตร. ให้เพิกถอน  ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีละเลย เพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตนก็ต้องดำเนินคดีนายกรัฐมนตรีตามกฏหมาย

 

แม้ว่าผลของกฤษฎีกา จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่กฤษฎีกาเป็นมือกฎหมายของรัฐบาล ที่ผ่านมาในคดีอื่นๆ ศาลก็รับฟังความเห็นของกฤษฎีกา พร้อมย้ำว่า อย่าลืมว่าองค์คณะกรรมการกฤษฎีกามีใครบ้าง ที่ประกอบไปด้วยอดีตประธานศาลฎีกา รวมถึงอดีตเลขากฤษฎีกา และปลัดกระทรวงยุติธรรม ฉะนั้นมติ 10:0 ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

 

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า คำสั่งใครเป็นคนเซ็นจะต้องรับผิดชอบ ตนจะดำเนินคดีโดยยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

 

ทำไมถึงไม่เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากข้าราชการเสียที ปล่อยให้ตนเป็น รอง ผบ.ตร. ลอยไปลอยมาแบบนี้ ตามหลักแล้วตนสามารถเข้าประชุม ก.ตร. ได้ แต่ไม่เลือกที่จะทำ เพราะถือเป็นการให้เกียรติ พร้อมยืนยันว่าตนเองยังมีสถานะเป็น รอง ผบ.ตร. อยู่ หากตนเองได้กลับไป จะไปดูคำสั่งให้ออกจากราชการที่มีตำรวจถูกสั่งให้ออกราชการ 70-80 นาย ก่อนหน้านี้ ว่าเป็นธรรมหรือไม่

 

และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าการส่งกลับมารอบนี้หวังว่าจะปรองดองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรใหญ่ จะปรองดองหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกฯ ซึ่งนายกฯ จะต้องเดินหน้า ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ลอยตัว ถ้านายกฯ ไม่ตัดสินใจ องค์กรก็จะอยู่ไปแบบนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำ