ข่าว

เอกฉันท์ มติ "ก.ตร." 12:0 ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วย กม.

ดับฝัน “บิ๊กโจ๊ก” มติ ก.ตร. เอกฉันท์ 12:0 เห็นชอบตามคณะอนุฯ ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นไปตามกฎหมายแล้ว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ก.ตร.

26 มิ.ย. 2567 มีรายงานว่า การประชุม ก.ตร. ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม ก.ตร. ชี้ชะตา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ร้องขอให้ ก.ตร. ยกเลิกคำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยใช้เวลาประชุม 3 ชั่วโมง

 

จากนั้น ก.ตร. โหวตวาระสำคัญเรื่อง พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร. เสนอผลการประชุม อนุ ก.ตร.วินัย มีความเห็นชอบกับคำสั่ง พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ให้ออกจากราชการไว้ก่อน เสนอเข้าที่ประชุม ก.ตร.

 

โดย มีการถกเถียงประเด็นดังกล่าว สุดท้ายนายกฯให้โหวตลงความคิดเห็นของ ก.ตร. ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ 12 ต่อ 0 ให้ความเห็นชอบคำสั่ง รรท.ผบตร. ให้  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน

มีรายงานว่าก่อนการประชุม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เรียก รอง ผบ.ตร. ทุกคนมาพูดคุยกันนอกรอบที่ห้องรับรองคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ บริเวณชั้น 1 อาคาร 1 ตร. จากนั้นเวลา 15.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงโดยก่อนเริ่มการประชุมนายกฯ ได้เรียก พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จตช. และ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าพบที่ห้องรับรองพรหมนอก

 

ต่อมาเวลา 17.45 น. นายกฯ เดินทางกลับ แจ้งว่าให้เลขานุการที่ประชุม ก.ตร. แถลงผลการประชุมโดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เดินลงมาส่ง แจ้งว่าการประชุมยังไม่เสร็จ

 

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุม ก.ตร. วันนี้ มีวาระสำคัญหลายเรื่องที่ต้องร่วมกันพิจารณาตามกรอบที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติกำหนด พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายพิจารณาตามหลักกฎหมายและยึดเรื่องการคืนความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย

 

“ผมขอให้ที่ประชุมแห่งนี้ยึดมั่นในองค์กรโดยช่วยกันใช้ดุลพินิจพิจารณาตามหลักนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และตาม พ.ร.บ.ตำรวจแหงชาติ พ.ศ.2565 ด้วยความสุจริตและมีความรอบคอบ ระมัดระวังในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ในวันนี้ โดยยึดหลักการคืนความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนส่วนรวมจึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปครับ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ยื่นเรื่องให้ ก.ตร. พิจารณา 2 ครั้ง เพื่อให้มีมติให้ ผบ.ตร. ยกเลิกคำสั่ง โดยอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่พิจารณาแล้วว่า คำสั่งดังกล่าว มิชอบด้วยกฎหมาย ตามมติเอกฉันท์ 10 ต่อ 0

 

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เดินหน้าร้องเรียน คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. เพื่ออุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการโดยมิชอบ และมีการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องตามมา

 

โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า มติของ ก.พ.ค.ตร. เปรียบเสมือนศาลปกครอง มีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิชอบได้ และ นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บังคับบัญชาการตำรวจ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาเรื่องนี้

ข่าวที่น่าสนใจ