ข่าว

เปิดใจ "บิ๊กต่าย" หลังมติเซ็น "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมาย

เปิดใจ "บิ๊กต่าย" หลังมติเซ็น "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมาย

27 มิ.ย. 2567

"พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ" ยืนยัน สมัยเป็น รรท.ผบ.ตร. ทำหน้าที่ปราศจากอคติ ไม่วังกล "บิ๊กโจ๊ก" ฟ้อง เตือนไล่ฟ้องคนอื่น หากไม่มีข้อมูลเพียงพอ อาจถูกฟ้องกลับ

ภายหลังมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่เห็นชอบ เซ็นให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมาย

 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ยอมรับว่า ได้มีการแถลงให้ที่ประชุม ก.ตร. รับทราบถึงที่ไปที่มาและเหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าว ก่อนที่จะออกมาด้านนอกและให้ในที่ประชุมได้ลงมติดังกล่าว 

 

ยืนยัน ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ดำเนินการปราศจากอคติ ทำด้วยความสุจริตใจ ซึ่งช่วงเวลานั้น ใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ ช่วงเวลาดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกศาลออกหมายจับเนื่องจากไม่รับหมายเรียกตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. ซึ่งในขณะที่พนักงานสอบสวนไปขอศาลออกหมายจับ องค์คณะผู้พิพากษาได้นำเรื่องพฤติการณ์ทางคดีและพยานหลักฐานต่างๆไปพิจารณาโดยเวลาพิจารณานานเกือบ 1 วัน 

สิ่งเหล่านี้ตนใช้ดุลยพินิจตั้งแต่ 2-18 เม.ย. ในการพิจารณา เมื่อสิ่งที่ทำปราศจากอคติ ที่ถูกกล่าวหาว่าสกัดกั้น ตนไม่มีความคิดเช่นนั้น ย้ำอีกครั้ง ทำไปด้วยความสุจริตใจ ไม่ได้ต้องการขัดแข้งขัดขาอย่างที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งข้อสังเกต และตนไม่ได้มีความดีใจหรือเสียใจ กับมติ ก.ตร. แต่ผลการพิจารณาเป็นไปตามเหตุผลและการอภิปรายของตนเอง 

 

ในที่ประชุมของคณะกรรมการ เป็นความรู้สึกปกติที่ว่านี่คือผลออกมาจากการพิจารณาออกคำสั่งของตนเองที่ออกไปตามข้อกฎหมายข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ตามความร้ายแรงที่เกิดขึ้น เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร

เมื่อถามว่าสบายใจขึ้นหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ไม่มีความสบายใจ จากสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เรามีหน้าที่ลบความสบายใจหรือไม่สบายใจออกไป ซึ่งตนเองอยากให้ปัญหาความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหายไป เพื่อให้ข้าราชการตำรวจทุกนายสบายใจ ประชาชนสบายใจและดูแลทุกภาคส่วนได้ดีมากขึ้น มองว่าหากปัญหาดังกล่าวหายไปตนเองจะสบายใจมากขึ้น

 

ในส่วนของการพิจารณาของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) จะพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งภายหลังจากที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ทำอุทธรณ์ไปถึง ก.พ.ค.ตร. ตนเองก็ได้ทำคำแก้อุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ส่งไปให้ทางคณะกรรมการแล้ว และเชื่อว่าคณะกรรมการอาจจะนำผลการพิจารณาของอนุกรรมการ ก.ตร. วินัยและผลการลงมติ ก.ตร. ไปพิจารณาด้วย แต่ตามขั้นตอนแล้ว หากผลของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาไม่เป็นผลดีต่อพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็เชื่อว่าคงจะไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในขั้นสุดท้ายอีก

 

ส่วนที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า หากผลของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาไม่เป็นบวกกับตนเองจะฟ้องร้องเอาผิดทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ มองว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และเป็นธรรมดาที่ตำรวจจะโดนฟ้องจากผู้จับกุมผู้ที่ถูกตรวจค้น แต่หากทำด้วยความสุจริตใจและไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝง ซึ่งตนเองไม่ได้มีเจตนาใดๆมองว่า จะสามารถตอบและชี้แจงต่อหน่วยงานและองค์กรต่างๆได้

 

ส่วนที่ตนเองเซ็นคำสั่งนั้น มีฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้คำแนะนำ หลังจากได้รับรายงานต้องคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์และพยานหลักฐานต่างๆ มองว่ากฎหมายดังกล่าวที่ถูกบังคับใช้ถือว่าเป็นกฎหมายใหม่ ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต โดยวิธีการตีความข้อกฎหมายมองว่า ไม่ควรตีความกฎหมายเพียงมาตราใดมาตราเดียว แต่ต้องพิจารณาร่วมกันกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ที่ต้องวินัย โดยยกตัวอย่างว่า หากมีตำรวจถูกจับคดียาเสพติด ซึ่งหน้าคาหนังคาเขาก็ต้องให้ออกจากราชการทันที แต่หากหยุดไว้ก่อนให้ทำงานและรอคณะกรรมการสอบสวนเสนอแนะก่อนก็ตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนจะมองอย่างไร ขายยาโจ่งแจ้งอย่างนี้ยังจะให้รับราชการอีกหรือ

 

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างจากมาตรา 112 ว่า มีการตั้งคณะกรรมการวินัยร้ายแรงแต่ก็ยังไม่ให้ออกจากราชการ เช่น ตำรวจนายหนึ่งละทิ้งราชการนาน 15 วัน แต่ก็ยังไม่ให้ออกจากราชการ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าทำจากอะไร แต่หากข้าราชการตำรวจนายนี้ ไม่มาทำงานและยังมีปฏิกิริยาที่แทรกแซงข่มขู่หรือกระทำด้วยประการใดๆที่ทำให้การสอบสวนไม่เป็นธรรมไม่เป็นกลางพนักงานสอบสวนและคณะกรรมการก็สามารถเสนอความเห็นให้ออกจากราชการได้ แต่ยอมรับว่าได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

 

ส่วนกรณีที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม ก.ตร.เมื่อวานนี้ มีแต่คณะกรรมการที่อยู่ฝ่ายหรือเป็นลูกน้องของ ผบ.ตร. เรื่องนี้มองว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์คงมองว่าไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนและขอความเป็นธรรมได้ ซึ่งเป็นศิษย์ แต่การฟ้องร้องขอให้มีข้อมูลและเหตุผลเพียงพอ ไม่เช่นนั้นผู้ถูกฟ้องก็คงต้องดำเนินการตามกฎหมายกลับไปเหมือนกัน แต่สำหรับตนเองไม่ได้วิตกกังวลอะไรเป็น รอง ผบ.ตร. ก็ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามต่อไป ซึ่งเป็นมุมมองความคิดที่ขยายออกไปได้แต่ตนเองได้ให้เหตุผลไปแล้ว