ข่าว

เปิดสาเหตุ “ก.ตร.” เห็นต่าง “กฤษฎีกา” ปมให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน

เปิดสาเหตุ “ก.ตร.” เห็นต่าง “กฤษฎีกา” ปมให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน

27 มิ.ย. 2567

ไขคำตอบ ทำไม “ก.ตร.” ทั้งคณะถึงมีความเห็นแตกต่างจาก “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ปมให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน

กลายเป็นประเด็นที่หลายคนยังสงสัย กรณีที่ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เห็นต่าง กับข้อสังเกตของ คณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร. มี คำสั่ง ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก รองผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน หลังศาลออกหมายจับและมีการดำเนินคดีกับ บิ๊กโจ๊ก

 

โดยเมื่อเดือน พ.ค.2567 คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือ กรณีที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หารือ เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการ ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน กรณีการสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการพิจารณาทางวินัย

โดยตอนหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งข้อสังเกตว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 120 วรรค 4 ระบุว่า ระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการ หรือสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการสอบสวน

 

ซึ่งใน กรณีของ บิ๊กโจ๊ก คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีขึ้นในวันเดียวกับ วันที่มี คำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

 

กรณีนี้ บิ๊กโจ๊ก จึงนำมาเป็นข้อต่อสู้ และเรียกร้องให้มีการถอน คำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน รวมทั้งนำไปร้องต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ก.พ.ค.ตร.)

 

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2567 และมีมติเอกฉันท์ 12 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการ ก.ตร. เสนอมา เรื่องให้ บิ๊กโจ๊ก ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ทำไม ก.ตร. ถึงเห็นต่างกับ คณะกรรมการกฤษฎีกา ?

 

คำตอบคือ ก.ตร. ใช้กฎหมายคนละมาตรากับ คณะกรรมการกฤษฎีกา ในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว

 

โดย คณะกรรมการกฤษฎีกา หยิบยก มาตรา 120 วรรคสี่ หรือ วรรคท้าย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตั้งข้อสังเกต

 

ขณะที่ ก.ตร. พิจารณา โดยนำ มาตรา 131 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาใช้

 

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณา บริบทของ กฎหมาย 2 มาตรานี้ ใช้ต่างกัน

 

โดย มาตรา 120 เป็นการสอบสวนดำเนินการทางวินัย ข้าราชการตำรวจ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ต้องอาศัยความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน เสนอมาด้วย

 

ส่วนมาตรา 131 ระบุว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจสั่งพักราชการ หรือสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้

 

แต่ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิด หรือกระทำผิดไม่ถึงกับถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการ ก็ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าว สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น

 

ดังนั้น ในกรณีนี้ แม้ไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผู้บังคับบัญชาก็สามารถ สั่งพักราชการ หรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ได้

 

จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมที่ประชุม ก.ตร. มีมติเอกฉันท์ 12 ต่อ 0 ตามที่ คณะอนุกรรมการ ก.ตร. เสนอมาว่า คำส่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมายแล้ว