ข่าว

เส้นทางชีวิต "บรรยิน ตั้งภากรณ์" จากรัฐมนตรี สู่นักโทษประหาร

ย้อน "ประวัติ" เส้นทางชีวิตของ "บรรยิน ตั้งภากรณ์" จากรัฐมนตรี สู่นักโทษประหาร ก่อคดีร้ายแรงอะไรบ้าง

ชื่อของ "บรรยิน ตั้งภากรณ์" กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังวันนี้ (27 มิ.ย.) ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ประหารชีวิต "บรรยิน" คดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ "เสี่ยชูวงษ์" เหตุเกิดเมื่อ 26 มิ.ย. 2558

"คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมประวัตินายบรรยิน และเส้นทางชีวิตจากนักการเมืองชื่อดัง สู่นักโทษประหาร รวมไปถึงการก่อคดีอุจฉกรรจ์ต่างๆ ที่นายบรรยิน เข้าไปมีส่วนพัวพัน มีอะไรบ้าง

บรรยิน ตั้งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2506 พื้นเพเป็นคนนครสวรรค์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 39 ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ 2 สมัย

พ.ศ. 2543 ขณะดำรงตำแหน่ง สวป.สภ.เมืองกำแพงเพชร ได้ลาออกจากราชการ เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครสวรรค์

พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ในกลุ่มวังน้ำยมของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จนเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบไป จึงย้ายมาสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย

ในการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 ลงสมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน กลุ่มที่ 2 (จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดพิจิตร, จังหวัดนครสวรรค์, จังหวัดอุทัยธานี, จังหวัดลพบุรี, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดขอนแก่น) ในสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตยแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

บรรยิน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลของนายสมัครสุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อมาบรรยิน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากการยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งขณะนั้น บรรยินดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

นายบรรยิน ตั้งภากรณ์


 

พ.ศ. 2557 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป บรรยิน ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 32

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 บรรยิน ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

"บรรยิน" ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม "เสี่ยชูวงษ์"


เดือน มิ.ย. 2559 บรรยิน ถูกตำรวจกองบังคับการปราบปราม จับกุมฐานจัดฉากฆาตกรรมนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือ "เสี่ยชูวงษ์" โดยขับรถยนต์เลกซัส สีดำ พุ่งชนต้นไม้ข้างทางฝั่งตรงข้ามซอย 61 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เขตประเวศ จนเสี่ยชูวงษ์ เสียชีวิตทันที เหตุเกิดเมื่อ 26 มิ.ย. 2558

ช่วงแรกญาติไม่ติดใจสงสัย แต่พบความผิดปกติการโอนหุ้นของเสี่ยชูวงษ์ ไปให้พริตตี้สาว และโบรกเกอร์ ที่มีความสนิทสนมกับบรรยิน กว่า 40 ล้านบาท ครอบครัวจึงนำเรื่องไปร้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกองบังคับการปราบปรามเข้ามาคลี่คลายคดี จนพบว่าบรรยินกับพวก ปลอมหลักฐานโอนหุ้น จนเป็นที่มาการสืบสวนประะเด็นการเสี่ยชีวิตของเสี่ยชูวงษ์ นำมาสู่การจับกุมดังกล่าว

20 ม.ค. 64 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประหาชีวิตบรรยิน คดีฆากรรมเสี่ยชูวงษ์ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ กระทั่ง 25 ส.ค.2565 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนประหารชีวิต จนล่าสุดวันนี้ (27 มิ.ย.) ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ 
 

นายบรรยิน ตั้งภากรณ์

"บรรยิน" อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา


2 ก.พ. 2563 บรรยินและพวกรวม 6 คนได้ร่วมกันก่อเหตุลักพาตัวนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งนายวีรชัย เป็นพี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้ และเป็นเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้นศาลอาญากรุงเทพใต้

โดยคนร้ายได้โทรไปข่มขู่ผู้พิพากษาให้ยกฟ้องคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ ระหว่างทางนายวีรชัย ได้ดิ้นรนขัดขืนทำให้ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ก่อนจะนำศพไปเผาทำลายที่เขาใบไม้ใน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จากนั้นนำเศษเถ้าและชิ้นส่วนขนาดเล็กไปทิ้งในพื้นที่รกร้างที่ตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว อำเภอพยุหะคีรี ชิ้นส่วนร่างกายที่มีขนาดใหญ่ได้นำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณตำบลบ้านกลางแดด อำเภอเมืองนครสวรรค์ และโทรศัพท์มือถือและนำกระเป๋าสตางค์ของนายวีรชัย ถูกนำไปทิ้งที่แม่น้ำปิง

23 ก.พ. 2563 ตำรวจจับกุมบรรยิน ได้ที่ จ.นครสวรรค์ ในคดีฆาตกรรมนายวีรชัย ก่อนส่งไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ระหว่างบรรยินถูกคุมตัวอยู่ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สืบทราบว่า บรรยินได้ให้พรรคพวกที่อยู่นอกเรือนจำ วางแผนไปลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อแลกกับการให้บรรยินออกไปจากคุก แต่แผนการนั้นไม่สำเร็จ

สำหรับคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 จำคุกตลอดชีวิต ต่อมา 1 ก.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสิน​ จากจำคุกตลอดชีวิต เป็นโทษประหารชีวิต

 

 

อ้างอิงข้อมูล :  ฐานเศรษฐกิจ, วิกิพีเดีย

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ