“บิ๊กต่าย” ติวเข้ม ข้อ กม. “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน”
“บิ๊กต่าย” กาง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดข้อกฎหมาย “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” แจงขณะ รรท.ผบ.ตร. ใช้ข้อกฎหมายไหน เพราะอะไร พบมาตรานี้เคยให้ตำรวจออกจากราชการแล้วถึง 70 คน
3 ก.ค. 2567 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. อดีต รรท. ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ในข้อกฎหมาย เกี่ยวกับการดำเนินการทาง วินัย เกี่ยวกับเรื่อง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดต้องหาคดีอาญา ต้องดูพฤติการณ์และความรุนแรงแห่งคดี ถึงจะมาพิจารณาว่าจะดำเนินการทางวินัยระดับใด
ตอนนี้มีการตรา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เป็นฉบับใหม่ ระบุเกี่ยวกับ มาตรา 120 วรรคท้าย ขณะที่ มาตรา 131 มีมานานตั้งแต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แล้ว
พอปี 2565 เกิด มาตรา 120 วรรคท้าย ขึ้นมา โดยเฉพาะการดำเนินการทาง วินัย การตีความตามหลักของกฎหมาย เราต้องตีความแยกออกจากกันระหว่าง มาตรา 120 วรรคท้าย กับ มาตรา 131 ต้องไม่ทำให้กฎหมายที่เกี่ยวพันกันด้อยค่า
มาตรา 120 วรรคท้าย เป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการสอบสวนทาง วินัย ที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหาที่โดนดำเนินการทางวินัย อาจสมควร ให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือให้พักราชการ ซึ่งวินัยร้ายแรงบัญญัติในกฎหมายชัดเจนว่าเรื่องอะไรบ้าง
แต่ มาตรา 131 บัญญัติว่า ผู้ถูกกล่าวหาวินัยร้ายแรง หรือต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดี เมื่อเข้าองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา เมื่อผู้ถูกกล่าวหาต้องหาคดีอาญาจะโยงไปถึง มาตรา 119 เป็นเรื่องของกรรมการวินัยร้ายแรง ที่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และจะผูกพันกับเรื่องการพักหรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
กรณีนี้ผมออกคำสั่งอย่างที่ทุกท่านทราบ นั่นคือ ผู้ถูกกล่าวหาถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และต้องหาคดีอาญา เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ ความผิดคดีอาญา ฟอกเงิน และพัวพันกับการพนันออนไลน์ เป็นการฝ่าฝืนนโยบายการปราบปรามอาชญากรรมของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ต้องรักษากฎหมายให้เป็นเยี่ยงอย่างกับประชาชน หากกระทำผิดเสียเองจะหาความเชื่อมั่นได้ที่ไหน
ดังนั้นพฤติการณ์บางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการสอบสวน อาจเป็นปัญหาอุปสรรคการสอบสวนได้ จึงต้อง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
แต่ มาตรา 120 วรรคท้าย เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจของคณะกรรมการสอบสวนทาง วินัย ที่เห็นว่าหากกระทำผิดวินัยร้ายแรง บางเรื่องไม่ใช่ต้องหาคดีอาญา ก็ไม่จำเป็นต้องให้พัก กรณีผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาแทรกแซงวุ่นวายกับคณะกรรมการสอบสวน ก็อาจใช้ มาตรา 120 วรรคท้าย ในการเสนอแนะต่อผู้ออกคำสั่ง ให้พักราชการหรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ได้
แต่ กรณี มาตรา 131 เป็นเรื่องของคดีอาญา เป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่แตกต่างกัน ของผู้มีอำนาจ
ผลของคำสั่ง ตาม มาตรา 131 มีผลเมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกคำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน จะผูกพันกับ มาตรา 133 บัญญัติว่ากรณีข้าราชการจะออกจากราชการต่อเมื่อ ตาย ลาออก เกษียณ และถูกออกจากราชการ ตาม มาตรา 131 เท่ากับว่า ไม่ได้อยู่ในสถานะของตำรวจแล้ว
ส่วนกระบวนการ ตาม มาตรา 140 วรรค 1 เรื่องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นับจากวันที่ออกจากราชการไว้ก่อน ส่วน พล.ต.ต. , พล.ต.ท. นำความกราบบังคมทูลเพื่อทราบ
สิทธิของผู้ถูก ให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือพักราชการ จะอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเทียบเท่าศาลชั้นต้น ที่ตำรวจผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิอยู่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร. เมื่อวินิจฉัยแล้ว ถือเป็นที่สุด ผู้ออกคำสั่งจะแก้ไม่ได้แล้ว
แต่ถ้าไม่เป็นคุณกับผู้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน สามารถใช้สิทธิที่ ศาลปกครองสูงสุด ได้
ผมไม่ได้กลัวและไม่กังวลที่ถูกฟ้องกลับ เพราะใช้อำนาจชอบแล้ว เราใช้เวลาพิจารณาเกือบครึ่งเดือนที่จะลงนามคำสั่ง ผมมั่นใจในตัวเอง พื้นฐานความสุจริต และยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
รวมทั้ง ไม่มีเจตนาพิเศษไปสกัดขาใครที่จะก้าวขึ้นเป็น ผบ.ตร. เพราะดุลพินิจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีในการเสนอชื่อตามกฎหมาย เราต้องเคารพกฎกติกานี้ บางทีอาวุโสต่ำกว่าเราอาจได้เลือกก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราเป็นอันดับ 1
เมื่อถามว่า การใช้อำนาจตาม มาตรา 131 เคยมีตำรวจถูก ให้ออกจากราชการไว้ก่อน กี่ราย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า 70 กว่าราย ทั้ง ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
นอกจากนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังยกตัวอย่างด้วยว่า ถ้าต้องรอดำเนินการตาม มาตรา 120 วรรคท้าย ทุกเรื่อง อาทิ ถ้าพบตำรวจกระทำรุนแรง ทะเลาะวิวาท ยิงเขาตายแล้วหลบหนี ถามว่าเราต้องรอให้คณะกรรมการวินัยเสนอแนะไหม เพราะกว่าจะถึงเวลานั้น ผู้กระทำผิดอาจหนีไป แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังได้เงินเดือนมาตลอดตั้งแต่เขากระทำความผิด ซึ่งถ้าต้องรอกระบวนการนี้จะทำให้ดุลพินิจบิดเบี้ยวและมีปัญหาได้
ดังนั้น มาตรา 120 วรรคท้าย กับ มาตรา 131 ต้องตีความแยกกัน