ข่าว

ราชทัณฑ์ ตั้งกก.สอบ 3 “นช.” วางยาตุ๋ยเพี่อน

"กรมราชทัณฑ์" ตั้งกรรมการสอบ 3 นักโทษชาย วางยานอนหลับ ก่อนลงมือตุ๋ยเพื่อน โดยเหยื่อถูกบูลลี่ จนถึงกับคิดสั้น

13 ก.ค.2567 กรณี นายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์  โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นช. เรือนจำบางขวาง ร้องสภาทนายฯ เหตุถูกเพื่อน นช. วางยานอนหลับ และ ข่มขืน ผู้คุมไปแจ้งความแล้ว แต่คดีไม่คืบหน้า แถมถูกเพื่อน นช.บูลลี่จนคิดฆ่าตัวตาย โดยผู้เสียหายได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ

 

ต่อมาคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ จัดตั้งทีมงานทนายความ เพื่อช่วยเหลือทางคดี และเร่งรัดคดี

 

ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำกลางบางขวางว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 โดยผู้ต้องขังรายนี้ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ถูกเพื่อนร่วมห้อง กระทำชำเรา ภายในห้องนอน ซึ่งมีผู้ต้องขังอยู่ร่วมกัน จำนวน 3 คน เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการสอบปากคำเบื้องต้น และนำตัวส่งให้แพทย์โรงพยาบาลเรือนจำกลางบางขวาง ตรวจร่างกายและจิตใจ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี เมื่อวันที่15 มกราคม 2567

ทั้งนี้ เรือนจำกลางบางขวาง ได้มีคำสั่งลงโทษผู้ต้องขังที่ก่อเหตุเรียบร้อยแล้ว สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง ยานอนหลับ ทางเรือนจำฯ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ โดยสอบปากคำผู้ต้องขังรายดังกล่าวได้ความว่าผู้ต้องขังทั้ง 3 คน ได้ทานกาแฟจากแก้วเดียวกันโดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนจนหมดแก้ว หลังจากนั้นผู้ต้องขังที่เป็นผู้เสียหายเกิดอาการง่วงจนหลับไป กระทั่งรู้สึกตัวและโวยวายกับผู้ก่อเหตุ จนเพื่อนร่วมห้องอีกคนตื่นขึ้น ซึ่งกาแฟดังกล่าวเป็นกาแฟที่ขายจากร้านสวัสดิการของเรือนจำฯ ซึ่งขายให้กับผู้ต้องขังทั่วไป

 

ส่วนประเด็นเรื่องมียานอนหลับ หรือเป็นยาชนิดใดหรือไม่ ในประเด็นนี้ เรือนจำฯ มีแนวทางการปฏิบัติในการจ่ายยาให้กับผู้ต้องขังที่รัดกุมยากต่อการซุกซ่อน รวมทั้งมีมาตรการในการตรวจสอบควบคุมเพื่อป้องกันการลักลอบนำยาประเภทยานอนหลับหรือยาควบคุมไปใช้ในทางที่ผิดได้

 

นอกจากนี้ในระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบฯ ได้มีการแยกผู้ต้องขังออกมาจากแดนที่เกิดเหตุ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์การถูกล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งจากผู้ต้องขังอื่นที่อยู่ร่วมกันในแดน ซึ่งผู้ต้องขังคนดังกล่าว ไม่มีอาการผิดปกติและสามารถอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นได้ตามปกติ

 

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า กรมราชทัณฑ์ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันการใช้ ความรุนแรงในเรือนจำ ทั้งจากผู้ต้องขังด้วยกันเองหรือจากเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังภายใต้แนวคิดพื้นฐานเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามทรมานและปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย โดยมุ่งเน้นการให้เรือนจำที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน และที่ผ่านมา สถิติในการเกิดความรุนแรงในเรือนจำลดลงจากอดีตเป็นอย่างมาก

ข่าวยอดนิยม