ข่าว

นิติเวช จุฬาฯ เปิดผลเลือด 6 เวียดนาม พบสาร “ไซยาไนด์”

นิติเวช จุฬาฯ เปิดผลเลือด 6 เวียดนาม พบสาร “ไซยาไนด์”

17 ก.ค. 2567

นิติเวช จุฬาฯ แถลงยืนยัน ผลตรวจเลือดของ 6 ชาวเวียดนาม มีสาร “ไซยาไนด์” ขาดอากาศหายใจ สภาพร่างกายไร้ร่องรอยถูกทำร้าย

นิติเวช จุฬาฯ แถลงพบสาร ไซยาไนด์ ในเลือดของ 6 ศพ ชาวเวียดนาม

17 ก.ค.2567 กรณีเกิดเหตุ ฆาตกรรมหมู่ 6 ศพ ในห้องพัก โรงแรมดังราชประสงค์ โดยทั้งหมดเป็น ชาวเวียดนาม และ 2 ใน 6 คน ได้รับสัญชาติอเมริกัน โดยในห้องที่เกิดเหตุ ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ หรือดิ้นทุรนทุราย เหตุเกิดเมื่อเย็นวันที่ 16 ก.ค.2567

 

ต่อมากองพิสูจน์หลักฐานพบว่า ทั้งหมดถูกสารพิษ ไซยาไนด์ เสียชีวิต

 

ล่าสุด เวลา 15.00 น. ที่ นิติเวช จุฬาฯ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ และผอ.ศูนย์อำนวยการชันสูตรพลิกศพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันแถลงผลการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นของแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด จากการชันสูตรพลิกศพร่างผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติทั้ง 6 ราย 

 

โดย รศ.นพ.กรเกียรติ วงศ์ไพศาลสิน แถลงว่า จากการเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และนำร่างผู้เสียชีวิตมาชันสูตร 6 ราย เป็นเป็นหญิง 3 ราย ชาย 3 ราย ขณะนี้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ตรงกับรายชื่อข้อมูลที่ตำรวจมีอยู่ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้ว 12-24 ชั่วโมง ก่อนทีมแพทย์เข้าไป และตรวจจากเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การแข็งตัวร่างกาย การตกเลือด สอดคล้องกัน

ทีมแพทย์เก็บภาพหลักฐานผู้เสียชีวิต มีการเก็บตัวอย่าง เลือด ปัสาวะ สารมูลต่างๆ การทำ CTสแกน เบื้องต้นไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย

 

การผ่าชันสูตร ภาพรวมทั้งหมด ปรากฏสำคัญว่า ทุกราย มีร่องรอยการขาดอากาศเกิดขึ้น ฝีปากม่วงเข้ม ใบหน้าและการตกเลือดเป็นลักษณะพิเศษ บ่งชี้ว่าเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศร่วมด้วย การตกเลือดพบมีสีแดงสด ซึ่งลักษณะนี้มาจากสารพิษ

 

ส่วนอวัยวะภายใน พบการคลั่งเลือดของอวัยวะต่างๆในปริมาณมาก สาเหตุการเสียชีวิตทุกราย จากการตรวจมาจากพิษของสารอันตรายผ่านระดับเซลล์ เข้าสู่ระบบประสาทและหัวใจ

 

เมื่อเอาเลือดไปตรวจพิสูจน์คัดกรอง พบ สารไซยาไนด์ และนำไปตรวจอีกครั้ง เป็นผลบวก ดังนั้นทำให้เราสงสัยว่าถูกสารพิษไซยาไนด์ แต่อย่างไรก็ตามต้องตรวจเลือดเพื่อคอมเฟิร์มอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่า 1-2 วัน จะทราบผลว่าใช้ปริมาณมากน้อยแค่ไหน มีสารพิษชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่

 

ส่วนลำดับผู้เสียชีวิต ไม่สามารถแยกได้ว่า ใครเสียชีวิตก่อน หรือหลัง เนื่องจากการแข็งตัวของร่างกาย และการตกเลือด บ่งบอกได้แค่ช่วงเวลาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องอุณหภูมิ สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่ารายไหนเสียชีวิตกี่โมง แต่ตอนนี้ทิศทางเดียวกัน คือ เสียชีวิตมาแล้ว 12-24 ชั่วโมง

 

ส่วนการได้กลิ่นไซยาไนด์หรือไม่นั้น บางรายอาจจะได้กลิ่นได้ คล้ายกลิ่นอัลมอนไหม้ แต่โดยหลักแล้ว เราจะไม่สูดดม เราจะตรวจเลือด กรณีนี้พบเลือดมีสีแดงสด

 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปกติแล้วการรับสารพิษ ไซยาไนด์ หากรับในระดับ 3 มล.ต่อซีซี เสียชีวิตทุกราย แต่กรณีนี้ต้องดูจากผลเลือดอีกครั้ง ให้คาดการณ์ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าทำให้เสียชีวิต ต้องมีปริมาณที่สูงนิดหนึ่ง ซึ่งต้องมากกว่า 3 มล.

 

คนที่ได้รับสารพิษ ไซยาไนด์ ขึ้นอยู่กับปริมาณและวิธีการนำเข้าสู่ร่างกาย เช่น การสูดดม การรับประทาน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมักเกิดอาการ เหนื่อย หอบ หมดสติ ชักเกร็ง นับเวลาเป็นนาทีได้ ล้มลงและเสียชีวิตเลย ขาดออกซิเจนเฉียบพลัน หรือบางคนได้รับปริมาณที่น้อย มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะเสียชีวิต

 

พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวถึงที่มาของสาร ไซยาไนด์ ว่า ตำรวจได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือ เตรียมการนำเข้ามาก่อนเข้าประเทศไทย หรือ หาซื้อในประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งได้สั่งการให้ตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2567 ที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเริ่มเดินทางเข้าประเทศไปจนถึงวันที่ 12 ก.ค. 2567 และยอมรับว่า ขณะเดินทางผ่าน ตม.ไม่สามารถตรวจหาสารเหล่านี้ได้ รวมถึงไม่สามารถยืนยันว่า ผู้ใดคือผู้นำเข้า ต้องรอการสืบสวนให้เสร็จสิ้นชัดเจนก่อน 

 

สำหรับขั้นตอนหลังจากชันสูตรแล้ว ตำรวจจะรอรายงานผลการชันสูตรจากทางแพทย์ เพื่อนำไปประกอบในสำนวน ส่วนครอบครัวที่ติดต่อมาขอรับศพ มีเพียงครอบครัวของสามีภรรยาที่เสียชีวิต ที่มาสอบปากคำที่ สน. ลุมพินี ในวันนี้