ยึดทรัพย์ "Turtle Farm" 116 ล้าน เฉลี่ยคืนผู้เสียหาย
บช.สอท. ขยายผลคดี หลอกลงทุน "Turtle Farm" ฟาร์เห็ดลวงโลก ยึดทรัพย์ "116 ล้าน" เผย เตรียมเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหาย
24 ก.ค.2567 พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. นายกมลสิษฐ์ วงศ์ บุตรน้อย รองเลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ Mr.Bryan Anderson รองผู้ช่วยทูตประจำภูมิภาค สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) ร่วมแถลงผลการปฏิบัติการยึดอายัดทรัพย์ขบวนการหลอกลงทุน Turtle Farm พร้อมส่งมอบทรัพย์สินกว่า 116 ล้านบาท เตรียมเข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยคืนผู้เสียหาย ที่ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี)
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ได้มี หจก.สถานีหลักสี่ ร่วมกับกลุ่มผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการรวมทั้งสิ้น 11 รายชักชวนประชาชนผ่านสื่อโซเชียลให้ร่วมลงทุนธุรกิจฟาร์มเห็ดในชื่อ "Turtle Farm"
โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนเพาะเห็ด ปลูกพืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง รวมทั้งการลงทุนการเกษตรรูปแบบต่างๆ และอ้างว่าได้ผลกำไรตอบแทนในการลงทุนสูง โดยมีบริษัทหนึ่งรับหน้าที่ผลิตโฆษณาชวนเชื่อให้แก่กลุ่มผู้ต้องหา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อเหยื่อในการนำเงินมาลงทุน กระทั่งมีเหยื่อหลายรายหลงเชื่อโอนเงินลงทุน
จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาได้นำเงินที่ลงทุนดังกล่าวไป โดยไม่นำไปลงทุนฟาร์มตามที่โฆษณากล่าวอ้าง ผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว
โดยจากข้อมูลพบว่า คดีนี้มีผู้เสียหายกว่า 1,885 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 1,290 ล้านบาท
ต่อมา บช.สอท. ได้ตั้งชุดทำงานรับผิดชอบคดีดังกล่าว และได้ร่วมกันนำกำลังเข้าตรวจค้น Total Farm ณบ้านหลังหนึ่ง ในอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งจดทะเบียนโดย หจก.สถานีหลักสี่ และ บจก.ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์ และได้รวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้จำนวน 11 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ,กู้ยืมเงินเพื่อฉ้อโกงประชาชน , และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ
จากนั้นได้ขยายผลนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ย่านถนนรามอินทรา-นวมินทร์ และบริษัทรับผลิตสื่อโฆษณา ให้กับกระบวนการดังกล่าวในพื้นที่ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม. จับกลุ่มผู้ต้องหาได้อีก 3 ราย ในข้อหาฟอกเงิน รวมคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 14 ราย
วันที่ 21 ธันวาคม 2565 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ครั้งที่ 1 รวมจำนวน 21 รายการมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ครั้งที่ 2 จำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 5 ล้านกว่าบาท พร้อมดอกผล
วันที่ 14 มีนาคม 2561 ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์ครั้งที่ 3 จำนวน 4 รายการรวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท พร้อมดอกผล ต่อมา 21 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดสกลนครได้มีคำพิพากษา ให้จำเลย 11 รายแรก ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ โดยตัดสินให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหาย 1,117 คน รวมความผิด 1,117 กระทงโทษจำคุก 5,585 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี และยังพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายรายละ 550,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 614,350,000 บาท
ในส่วนคดีความผิดฐานฟอกเงิน พนักงานสอบสวนได้สรุปความเห็นสั่งฟ้อง หจก.หลักสี่ บจก.ไมน์นิ่ง มายน์ เอ็กซ์ และกรรมการอีก 3 คน รวมถึง บริษัท พี เอ็น มาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่รับผลิตสื่อโฆษณา และผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 8 ราย เสนอพนักงานอัยการ
จากนั้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม เรื่องการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราว(เพิ่มเติม) หจก.สถานีหลักสี่ และพวก จำนวน 30 รายการรวมราคาประเมินมูลค่ากว่า 116 ล้านบาท ซึ่งหากรวมทรัพย์สินที่ยึดและอายัดจำนวน 4 ครั้ง รวมราคาประเมินจำนวนทั้งสิ้นกว่า 139 ล้านบาท
ล่าสุดช่วงเช้ามืดวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 (บช.สอท.3) ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปปง. เข้าตรวจยึดบ้านหรูพร้อมที่ดินและคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2 แห่ง แห่งแรก บ้านหรูหลังหนึ่ง ในซอยพระยาสุเรนทร์ 40 ถนนรามอินทรา-นวมินทร์แห่งที่ 2 ห้องชุดชั้น 8 คอนโดแห่งหนึ่ง ย่านเขตบึงกุ่ม สามารถตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินจากการกระทำผิดของกระบวนการหลอกลงทุน Total ฟาร์มครั้งที่ 4 ได้มูลค่ากว่า 116 ล้านบาทให้แก่ปปงเพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายและนำทรัพย์สินทั้งหมดเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหายที่โดนหลอกลวงต่อไป