ข่าว

เหยื่อคดีหุ้น STARK ร้อง ก.ล.ต. เอาผิด "ดีลอยท์" รับรองงบการเงินจนหลงเชื่อ

เหยื่อคดีหุ้น STARK ร้อง ก.ล.ต. เอาผิด "ดีลอยท์" รับรองงบการเงินจนหลงเชื่อ

26 ก.ค. 2567

กลุ่มผู้เสียหายคดีหุ้น STARK บุก ก.ล.ต. ปลด "ดีลอยท์" จากตลาดทุนไทย หลังรับรองงบการเงิน สร้างความน่าเชื่อถือ จนหลงเชื่อ ยอมลงทุน สุดท้ายถูกฉ้อโกง

ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายกว่า 78 คน พร้อมนายอำพล รัตนมูสิก ทนายความ คดีถูกหุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉ้อโกงประชาชนสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุน กว่า 14,000 ล้านบาท รวมตัวอีกครั้งที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เข้ายื่นหนังสือผ่านน.ส.อาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ และหัวหน้าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและบริการประชาชน ก.ล.ต. 

เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเด็ดขาดในการเพิกถอน รับอนุญาตสอบบัญชีและดำเนินคดีอาญาเอาผิดกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในสังกัดของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด และบริษัทดีลอยท์ฯ ตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต โดยมี น.ส.อาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ และหัวหน้าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและบริการประชาชน ก.ล.ต. เป็นผู้รับเรื่อง

 

โดยในหนังสือเปิดผนึกระบุว่าตั้งแต่ ปี 2561 STARK ได้ว่าจ้างผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ของบริษัทดีลอยท์ฯ เข้ามาตรวจสอบและรับรองงบการเงินตั้งแต่ปี 2561 ในฐานะผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินแบบไม่มีเงื่อนไข หรือเรียกว่างบการเงิน "คลีน" ทำให้นักลงทุนไม่มีข้อสงสัยหรือข้อควรระวังในการลงทุน

 

ในปี  2564 บริษัทดีลอยท์ฯและ นายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และเป็นหุ้นส่วนสำนักงานด้านการสอบบัญชี อยู่ในสังกัดของบริษัทดีลอยท์ฯ กระทำการโดยปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพผู้สอบบัญชี  ไม่ได้ทำการตรวจสอบ ติดตามเรื่องต่อในงบการเงินปี 2564 ทั้งที่งบดุลและงบการเงินของ STARK มีข้ออันควรตรวจสอบ  เช่น การลงทุนซื้อบริษัทในประเทศเวียดนาม  มีการลงบัญชีไม่ถูกต้องในระดับไม่มีความน่าเชื่อถือ  มีพฤติกรรมในการลงบัญชีโดยสร้างยอดขายปลอม  

 

บริษัทในเครือจ่ายเงินแทนลูกหนี้  จ่ายภาษีขายจากยอดขายที่ไม่เกิดขึ้นจริง  สร้างรายจ่ายปลอม โดยจ่ายให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด   รับชำระหนี้ปลอมจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  มูลค่าสินค้าคงเหลือเกินจริง บันทึกต้นทุนขายและสินค้าคงเหลือเกินจริง  บันทึกลูกหนี้ไม่ถูกต้อง เหล่านี้เป็นต้น  เพื่อให้เห็นว่า STARK มีผลประกอบการที่ดีน่าลงทุนทั้งๆที่มีพฤติกรรมในการลงบัญชีอันเป็นเท็จ  การลงบัญชีไม่ถูกต้องในระดับไม่มีความน่าเชื่อถือ 

 

ผู้เสียหายร้อง ก.ล.ต. ดำเนินคดีบริษัทดีลอยท์

 

นายอำพลเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ตนเองในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ของSTARK  ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ ก.ล.ต.ดำเนินคดีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและบริษัทดีลอยท์ฯ ในกรณีละเลยฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีSTARKไปลงทุนซื้อกิจการบริษัทในประเทศเวียดนาม

ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2567 ทางก.ล.ต.ตอบหนังสือมาสั้นๆว่า ก.ล.ต.ยังไม่พบข้อสงสัยเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 89/29 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯของSTARK  เนื่องจากการปฏิบัติตามประกาศที่ว่าด้วยการได้มาและจำหน่ายทรัพย์สินในการลงทุนในบริษัทย่อยที่ประเทศเวียดนามนั้นได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ(IFA) ให้ความเห็นชอบประกอบการพิจารณา

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ตัวแทนสมาชิกกลุ่มผู้เสียหาย กลุ่มกู้หุ้น STARK ทำจดหมายถึงประธานก.ล.ต.ขอให้ดำเนินคดีอาญากับผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พิจารณาโทษทางจรรยาบรรณ และตรวจสอบระบบควบคุมคุณภาพ  ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ก.ล.ต.ตอบว่า  ก.ล.ต.ต้องให้โอกาสผู้สอบบัญชีชี้แจงโต้แย้งอย่างเพียงพอ  และปัจจุบันก.ล.ต.ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลและลงโทษสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน  

เนื้อหาที่ก.ล.ต.ตอบหนังสือกลับมายังผู้เสียหายทั้ง 2 ฉบับ ดูเหมือนประหนึ่งไม่ให้ความสำคัญกับคำถาม  คำตอบไม่ได้ลงในรายละเอียด  ไม่รับผิดชอบใด ๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งๆที่ ก.ล.ต.มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง และเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการตรวจสอบงบการเงินของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน  ซึ่งก.ล.ต.มีอำนาจในการเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีนั้นได้  ตามมาตรา 62  วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 

ในหนังสือเปิดผนึกที่ยื่นต่อก.ล.ต.วันนี้ยังตั้งคำถามด้วยว่า  เหตุใดเมื่อเกิดปรากฏการณ์ STARK มูลค่าความเสียหายสูงถึง 43,525 ล้านบาท แต่มีผู้บริหารอาวุโสตำแหน่งสำคัญที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสและประธานคณะกรรมการ บริษัทดีลอยท์ฯ จึงยังนั่งเป็นคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในคณะปัจจุบัน  เป็นความเหมาะสมหรือไม่  เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่  และส่งผลให้ก.ล.ต.ไม่สามารถแก้ไขปัญหากรณี STARK จนถึงวันนี้ใช่หรือไม่ 

ตอนท้ายของหนังสือระบุว่า  เหตุการณ์หรือปรากฏว่าที่เกิดขึ้นกับ STARK เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่หละหลวม  ไม่มีการพัฒนา  มีการเอื้อประโยชน์กันในตลาดทุน  ละเลยละเว้นหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมายอย่างร้ายแรง   จึงขอให้ทาง ก.ล.ต. เร่งออกมาตรการเด็ดขาด  เพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี นายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์  สังกัดของบริษัทดีลอยท์ฯและลงโทษทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.

ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. รับหนังสือ