ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ รับฟ้องคดี หุ้น STARK แบบกลุ่ม
ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้รับฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายคดี STARK ทำข้อมูลเท็จ ตกแต่งงบการเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ อีก 1 สำนวน
31 ก.ค. 2567 ที่ ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำสั่งในคดีที่ กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK กลุ่มห้องตัวจริง ยื่นฟ้องแพ่งฐานละเมิด มี นายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ ผู้สอบบัญชี และ บริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีหุ้นกู้ STARK รุ่น 239A และ 249A โดยขอดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
โดยศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้ มีนายจิณณะ แย้มอ่วม เป็นทนายความผู้ดำเนินคดี พร้อมกลุ่มผู้เสียหายประมาณ 60 กว่าคน เดินทางมาติดตามคำสั่ง
คดีได้ความตามทางไต่สวนว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะสมาชิกของกลุ่มบุคคลที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งชี้ชวนให้ซื้อหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1,2 แล้วมีผู้ซื้อหุ้นกู้ประมาณ 1,000 คน จำเลยที่ 1 เเละ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี หรือ งบการเงินของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวน
โดยโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองจัดทำข้อมูลอันเป็นเท็จ ตกแต่งงบการเงินของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้โจทก์และกลุ่มบุคคลที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย จากการหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว แล้วลงทุนซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว แต่ไม่ได้รับเงินต้นคืนพร้อมกับผลประโยชน์อันควรจะได้ และขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์และสมาชิกของกลุ่มตามจำนวนเงินต้นที่ซื้อหุ้นกู้พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในใบหุ้นกู้และหนังสือชี้ชวน ดังนั้นสภาพข้อหา คำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์และของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จึงเป็นการเรียกร้องความเสียหายที่มีลักษณะเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลจำนวนมาก
หากดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ จะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก การ ดำเนินคดี แบบกลุ่ม จะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ นอกจากโจทก์จะแสดงให้เห็นซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแล้ว โจทก์ยังแสดงให้เห็นว่า ทนายโจทก์มีประวัติ ประสบการณ์ ความเข้าใจและบทบาทหน้าที่ของทนายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงน่าเชื่อว่าโจทก์และทนายโจทก์สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่าง เพียงพอและเป็นธรรม
จึงอนุญาตให้โจทก์ ดำเนินคดี แบบกลุ่ม ได้ โดยกำหนดขอบเขตของสมาชิกกลุ่มคือกลุ่มบุคคลที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชุดที่ 1 และชุดที่ 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12
จึงให้รอไว้สั่งคำฟ้องเมื่อคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มถึงที่สุดแล้ว หากพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทำรายงานเสนอศาลเพื่อพิจารณาสั่งคำฟ้องต่อไป
สำหรับกลุ่ม STARK ตัวจริง โดย ทนายจิณณะ แย้มอ่วม ยื่นฟ้องในกรณีความเสียหายหุ้นกู้ STARK เป็น 3 คดี
- คดีที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ พ.1527/2566 ยื่นฟ้องวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ยื่นฟ้องกรรมการ 5 คนของบริษัทสตาร์ค ประกอบด้วย นายวนวัชต์ ตั้งคารวคุณ , นายชนินทร์ เย็นสุดใจ , นายชินวัฒน์ อัศวโภคี , นายศรัทธา จันทรเศรษฐลิศ , นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม โดยขอให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากหุ้นกู้ stark ทุกคน(4,692คน) ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้มีคำสั่งอนุญาตให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
- คดีที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ พ.861/2567 ยื่นฟ้องวันที่ 8 พ.ค. 2567 ฟ้องแพ่งนายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ และบริษัทDeloitte ในคดีหุ้นกู้ 3 รุ่น STARK245A/255Aและ252A ศาลนัดไต่สวน 26 ส.ค. 2567
- คดีที่ 3 คดีหมายเลขดำที่ พ.1715/2566 ฟ้องเมื่อวันที่ 28ส.ค. 2566 ยื่นฟ้องผู้สอบบัญชี นายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ และ บริษัทDeloitte ในคดีหุ้นกู้ 2 รุ่น คือ STARK239A และ STARK249A เเละศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้มีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันนี้