ข่าว

สมุทรสาคร"ลงแขกลงคลอง" ล่าปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2

สมุทรสาคร"ลงแขกลงคลอง" ล่าปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2

04 ส.ค. 2567

สมุทรสาคร เดินหน้าล่าปลาหมอคางดำต่อเนื่อง จัดกิจกรรม"ลงแขกลงคลอง" ครั้งที่ 2 และปล่อยปลานักล่า 5,000 ตัว ที่ บริเวณริมคลองโคกขาม

04 ส.ค. 2567 เวลา 11.00น.ที่ บริเวณริมคลองโคกขาม หลังศาลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการติดตาม และขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สมุทรสาคร\"ลงแขกลงคลอง\" ล่าปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2

พร้อมด้วย นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง นายวิโรจน์ มาเจริญ กับ นายวัฒนา แตงมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยตรีประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานบริษัทศิริแสงอารำพี จำกัด นายนิรุทธ์ แก้วนิล นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์

 

กลุ่มต้นคนหว่านแห ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำรวจน้ำ ผู้แทนผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร พันธมิตรกำจัดปลาหมอคางดำ ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติปลาหมอคางดำ เข้าร่วมเปิดปฏิบัติการ“ลงแขก ลงคลอง ครั้งที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำ”

สมุทรสาคร\"ลงแขกลงคลอง\" ล่าปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2

สำหรับกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำ” นี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่พบปลาหมอคางดำ หรือ สิ่งมีชีวิตอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำทุกประเภททั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ขณะนี้ยังคงพบการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่โดยเฉพาะใน 16 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ดังนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้เบาบางลงนั้น

จึงได้มีการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง ก่อนปล่อยพันธุ์ปลานักล่า คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรในแหล่งน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยังเพื่อเป็นการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย

 

ขณะที่ในแหล่งน้ำ (คลองโคกขาม บริเวณหลังศาลพันท้ายนรสิงห์) นั้น ทางประมงจังหวัดสมุทรสาครได้รับแจ้งจากพี่น้องประชาชนว่าในพื้นที่พบปลาหมอคางดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการประสานกับ อบต.พันท้ายนรสิงห์ และพันธมิตรกำจัดปลาหมอคางดำ ร่วมกันจับปลาหมอคางดำขึ้นจากคลองโดยวิธีล้อมอวน และทอดแห

อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากปลาหมอคางดำ อาทิเช่น ปลายอ ไส้อั่ว น้ำปลา ก้างปลาป่น เป็นต้น การทำปลาหมอคางดำแดดเดียว ปลาหมอคางดำทอดเกลือ และการแล่ปลาหมอคางดำเพื่อนำไปประกอบอาหารนานาชนิด เป็นต้น และในโอกาสนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรกำจัดปลาหมอคางดำ ยังได้มอบพันธุ์ปลากะพง (ปลานักล่า) ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 5,000 ตัว ให้กับกรมประมงและประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ กำจัดลูกปลาหมอคางดำที่รอดจากการจับด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ

 

โดยมี ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เป็นผู้รับมอบ ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

 

ทั้งนี้จึงได้ให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ และหลังจากนั้นก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ และได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ให้ขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมงในการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร มีการกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 6 แสนกิโลกรัม และล่าสุดกรมประมงได้ประกาศจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร ราคากิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 10 จุด

 

ซึ่งในภาพรวมของประเทศจะรับซื้อทั้งหมด 2,000,000 กิโลกรัม เพื่อส่งมอบให้กับการยางแห่งประเทศไทย นำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพส่งให้กับเกษตรกรสวนยางพารา หลังจากนี้ทางรัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตามมาตรการ 7 ประการ ในการกำจัดปลาหมอคางดำปี 2568 และให้เสร็จสิ้นภายในปี 2570 จึงนับเป็นทิศทางที่ดีในการที่จะช่วยกันกำจัดปลาหมอคางให้สิ้นซากหรือให้เบาบางลงได้มากที่สุด เพื่อคืนทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมาอีกครั้ง ดร.ณมาณิตาฯ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า จากการที่กรมประมงประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำที่กิโลกรัมละ 15 บาท และเพิ่มให้กับแพปลาอีก 5 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการส่งให้กับศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร และ โรงงานที่จังหวัดกาญจนบุรีนั้น ก็ส่งผลทำให้ปลาหมอคางดำที่ล่าได้จากในปากแม่น้ำ หรือลำคลองสาธารณะนั้นมีปริมาณลดลง แต่ที่จับได้มากขึ้นคือในบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ของเกษตรกร ขณะที่ในส่วนของแพปลาก็มั่นใจได้ว่าส่วนต่างที่ได้รับเพิ่มอีก 5 บาท เป็นค่าบริหารจัดการนั้น จะส่งผลคุ้มทุนอย่างแน่นอน