ข่าว

ทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายเครื่องสำอาง ใช้ผิดประเภท "ฉีดเข้าเส้น"

ทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายเครื่องสำอาง ใช้ผิดประเภท "ฉีดเข้าเส้น"

06 ส.ค. 2567

ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. ทลายแหล่งผลิต - จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ผิดหลัก นำฉีดเข้าเส้น ตรวจยึดของกลาง 47 รายการ มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท

วันที่ 6 ส.ค. 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. และ สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย 

 

 

ร่วมแถลงผลปฏิบัติการกรณีตรวจค้นบริษัทผู้ว่าจ้างผลิต สถานที่จัดเก็บ และสถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อินฟินาดิ แนท พลัส เอจจิ้ง โซลูชั่น (infiNADi NAD+ Aging Solution) เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 ที่ได้ประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์แล้วนั้น

ทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายเครื่องสำอาง ใช้ผิดประเภท \"ฉีดเข้าเส้น\"

เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง “infiNADi Nad+” และพบว่ามีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเครื่องสำอางคือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตสำหรับใช้ภายนอก ไม่สามารถนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกายได้

โดยต่อมาเมื่อห้วงเดือน มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระดมกวาดล้างคลินิกเสริมความงาม ที่ลักลอบนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการฉีดเข้ากระแสเลือด โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้ว ช่วยในการทำงานของสมอง หัวใจและหลอดเลือด การหายใจ การนอนหลับ การซ่อมแซมของ DNA ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการชราภาพ และระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งการนำเครื่องสำอางใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจเป็นอันตรายโดยตรงต่อร่างกายผู้บริโภคได้

ทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายเครื่องสำอาง ใช้ผิดประเภท \"ฉีดเข้าเส้น\"

แต่ปัจจุบันยังคงพบว่า มีการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาฉีดให้กับผู้มารับบริการตามสถานพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงประสานมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจกก. 4 บก.ปคบ. เพื่อให้สืบสวนขยายผลถึงต้นตอของผลิตภัณฑ์ที่มีการกระจายอยู่ตามสถานพยาบาลต่างๆ 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจนทราบถึงบริษัทผู้ว่าจ้างผลิต สถานที่จัดเก็บ และสถานที่ผลิต ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ เข้าทำการตรวจค้น รวม 3 จุด

ทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายเครื่องสำอาง ใช้ผิดประเภท \"ฉีดเข้าเส้น\"

1. บริษัทผู้ว่าจ้างผลิต บริเวณชั้น 6 ของอาคารคอนโดมิเนี่ยมแห่งหนึ่ง ซอยสุขุมวิท 7 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด โดยที่ประตูหน้าห้องระบุ REGENERATIVE Medicine Ltd. ผลการตรวจพบ

- ยาฉีดที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 300 ขวด 

- ขวด Vial เปล่าสำหรับใช้บรรจุยาทั้งที่ติดฉลากแล้ว และยังไม่ได้ติดฉลาก จำนวน 2 รายการ

รวม 867 ขวด 

- แฟ้มข้อมูลการส่งผลิตภัณฑ์ไปให้สถานพยาบาลต่างๆ หลังประกาศเพิกถอนใบรับจดแจ้ง 

โดยพบข้อมูลการส่งผลิตภัณฑ์ไปให้โรงพยาบาลเอกชนจำนวน 5 แห่ง สถานพยาบาล (คลินิก) จำนวน 284 แห่ง 

- สติกเกอร์ โบว์ชัวร์ แผ่นพับโฆษณา จำนวน 920 แผ่น 

 

ทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายเครื่องสำอาง ใช้ผิดประเภท \"ฉีดเข้าเส้น\"

2. สถานที่เก็บ และกระจายสินค้า ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารคอนโดมิเนี่ยมแห่งหนึ่ง บริเวณ ซอยสุขุมวิท 7 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด 

 - infiNADi NAD+ Aging Solution ภายในกล่องมีเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์แสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 และเอกสารการเตรียมยาระบุ ‘’NAD+ IV Therapy’’ จำนวน 2,462 ขวด 

- ของเหลวบรรจุในขวดยังไม่ติดฉลากหน้าถุงระบุ NADi จำนวน 765 ขวด 

- ยาแผนปัจจุบันมีทะเบียนตำรับยา จำนวน 6 รายการ รวม 573 ขวด 

- ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 13 รายการ รวม 2,659 ขวด

- กล่องสำหรับบรรจุขวดผลิตภัณฑ์ จำนวน 6 รายการ รวม 11,650 กล่อง

- แผ่นพับ โบว์ชัวร์ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ จำนวน 8 รายการ รวม 13,200 แผ่น

- สติกเกอร์สำหรับติดขวด จำนวน 4 รายการ รวม 12,300 ดวง

- ม้วนสติกเกอร์ สำหรับติดขวด จำนวน 2 ม้วน

- กล่องโฟมเก็บความเย็น สำหรับบรรจุยาส่งลูกค้า คละขนาด จำนวน 100 กล่อง

 

 สอบถามพนักงานของบริษัท รับว่าสถานที่ทั้ง 2 แห่ง มีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน ประกอบด้วยนายจ้างซึ่งเป็นชาวต่างชาติ (สัญชาติอเมริกัน) และภรรยาซึ่งเป็นคนไทย สำหรับการสั่งซื้อไม่ทราบว่ามาจากแหล่งผลิตที่ใด โดยนายจ้างจะเป็นคนสั่งซื้อเองทั้งหมด จากนั้นจะมีรถมาส่ง ตนเองมีหน้าที่เพียงรับคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล คลินิก จากนั้นบรรจุสินค้า นำส่งตามโรงพยาบาล คลินิกเท่านั้น ไม่ทราบรายละเอียดของที่มาผลิตภัณฑ์ สำหรับนายจ้างทั้ง 2 ราย ขณะนี้เดินทางไปต่างประเทศ 

 

3. สถานที่ผลิต ในพื้นที่ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พบกำลังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่นที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 1,610 หลอด สอบถามข้อมูลการผลิต รับว่าบริษัทได้รับการว่าจ้างให้ผลิต ผลิตภัณฑ์ infiNADi NAD+ Aging Solution เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีอายุ 1 ปี หลังจากครบสัญญาแล้ว บริษัทผู้ว่าจ้างไม่ได้ต่อสัญญาให้ผลิตอีก

 รวมตรวจค้น 3 จุด ตรวจยึดของกลาง 47 รายการ จำนวน 47,506 ชิ้น มูลค่ากว่า 25,000,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

 

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ดังนี้

บริษัทผู้ว่าจ้างผลิต

ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558

- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือขาย” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางไม่จดแจ้ง” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอาง ที่ฉลากใช้ข้อความไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ตามพระราชบัญญัติ ยา พ.ศ.2510

 - ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

                - ฐาน “ขายยาที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. โรงงานผู้ผลิต มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน “ผลิตเครื่องสำอาง 

ที่ฉลากใช้ข้อความ และฉลากแสดงข้อความไม่ตรงต่อความจริง” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ “ฉลากแสดงข้อความไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง” ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่ร่วมกันเข้าตรวจสอบสถานที่ลักลอบขายยาไม่มีทะเบียนตำรับยา รวมถึงผลิตและขายเครื่องสำอางปลอม ไปหลอกขายให้แก่คลินิกเพื่อมาหลอกใช้กับผู้รับบริการนั้น

 ซึ่งผลการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ชื่อ infiNADi NAD+ Aging Solution ที่มีการแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195 แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง อีกทั้งเลขที่ใบรับจดแจ้งดังกล่าว อย. ได้ประกาศเพิกถอนแล้วตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และยังพบแผ่นการโฆษณาประโยชน์ของการให้ INFINADI NAD ชะลอวัยและทำให้ดูอ่อนกว่าวัย, เสริมประสิทธิภาพความจำ การทำงานของระบบประสาทและสมอง, ช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังผ่านการติดเชื้อ Covid-19, เพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานในร่างกาย, เพิ่มระดับพลังงาน ลดอาการเหนื่อยล้า, ช่วยเรื่องการลดและควบคุมน้ำหนัก, เสริมการสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ, เพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกีฬา, ทำให้ผิวพรรณดูดีขึ้น, ช่วยบรรเทาอาการหวาดระแวงหรือเครียด, ลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบ ซึ่งเป็นการโฆษณาอวดอ้างเป็นเท็จเกินจริง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจะไม่มีการประเมินความปลอดภัยจากการใช้ไปฉีดเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากเครื่องสำอางจะใช้ทาภายนอกเท่านั้น ดังนั้น หากนำเครื่องสำอางไปใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้