ซุ้มยาดองมรณะ เปิด 18 พิกัดเหล้าเถื่อน ยาดองเถื่อน ใครซื้อกินพบหมอด่วน!
เปิด 18 พิกัดเหล้าเถื่อน ยาดองเถื่อน คร่า 1 ชีวิต ผู้ป่วยคลัสเตอร์ 21 ราย อาการหนักต้องฟอกไต ตาพร่ามัวมองไม่เห็น ใครซื้อกินพบหมอด่วน!
25 ส.ค. 2567 รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย ตัวเลขผู้ป่วยคลัสเตอร์ซุ้มยาดองเถื่อน รวม 21 ราย เสียชีวิตแล้ว1 ราย และอาการโคม่า 1 ราย ที่เหลืออาการยังอยู่ในกลุ่มสีแดง ใส่ท่อช่วยหายใจ - ฟอกไต พร้อมประชาสัมพันธ์กลุ่มเสี่ยงสังเกตุอาการ – เข้ารับการตรวจคัดกรองได้ใน 3 รพ.
ขณะที่กรมสรรพสามิต - ตำรวจ ลุยตรวจสอบต้นตอโรงงานผลิต พบลักลอบผสมเมทานอลกับน้ำเปล่า ก่อนส่งไปจำหน่าย กระจาย 18 ซุ้มยาดองสั่งปิดแล้ว -เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจ อยู่ระหว่างรอผล
ที่ศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน กรณีประชาชนดื่มสุรา (สุราต้ม) ยาดอง มีอาการเป็นพิษ เข้าโรงพยาบาลหลายราย วันนี้ (25 ส.ค. 2567) มีการประชุมความคืบหน้า ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กทม. โดยมี นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานเขตคลองสามวา ,กรมสรรพสามิต ,ตำรวจนครบาล 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน
โดยนายแพทย์ไพโรจน์ ระบุว่า กรณีนี้ได้เริ่มต้นจากการสอบสวนผู้ป่วย บางคนก็พูดไม่ได้ แต่คนที่ยังพูดได้ บอกว่า จะมีซุ้มรับแอลกอฮอล์จากร้านหนึ่งในมีนบุรี แล้วไปรับสารตั้งต้นผสมมา ซึ่งทางสรรพสามิต ได้สอบสวนไปถึงโรงงานผลิตต้นทางแล้ว
สำหรับตัวเลขของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษารวมทั้งหมด 21 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และแบ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ก็อยู่ในอาการโคม่า 1 ราย โดยทั้งหมดใส่เครื่องช่วยหายใจ และต้องฟอกไต เพราะเป็นสารพิษ ต้องใช้กระบวนการฟอกไต และมีหลายรายที่รับตัวผู้ป่วยมาแล้วหยุดหายใจ จนต้องทำ CPR ทั้งนี้ เนื่องด้วยสารพิษ เมทานอล ไปทำให้เลือดเกิดภาวะเป็นกรด และไปทำลายระบบต่างๆโดยเฉพาะเรื่องสายตา และไต
ส่วนผู้ป่วยที่รับปริมาณแอลกอฮอล์ไปในปริมาณเท่าไร ถึงทำให้มีอาการนั้น ขณะนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจน จะต้องรอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการตรวจสอบ เพราะการตรวจเมทานอลในเลือด ยอมรับว่า ค่อนข้างตรวจยาก จะต้องใช้การตรวจพิเศษ และหลอดที่จะเก็บตัวอย่างก็ต้องเป็นหลอดพิเศษ รวมถึงจะใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลไม่ได้ ต้องใช้เบตาดีนเช็ดแผล
วันนี้เนื่องจากมีการขยายจุดเสี่ยงที่มีการจำหน่ายแอลกฮอล์ไปแล้ว 18 จุด ใน 6 สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร จึงต้องประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่มีจุดคัดกรองผู้ป่วย ใน 3 โรงพยาบาล คือ
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชน ที่มีความเสี่ยง เข้ามารับการตรวจคัดกรองได้ รายไหนพบว่ามีความรุนแรง จะรับรักษาและเจาะเลือดตรวจ เพื่อยืนยันว่ารับสารพิษไปปริมาณเท่าไหร่
นายพยุง บุญสมสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม กรมสรรพสามิต บอกว่า หลังจากได้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุซุ้มยาดอง ก็ได้ทำการขยายผลทำให้เมื่อวานนี้ ได้เข้าไปตรวจค้นจับกุมแหล่งผลิต และกระจายสินค้า บริเวณถนนกาญจนาภิเษก 25 ได้เก็บของกลางส่ง สน.บางชัน แล้ว รวมถึงเก็บตัวอย่างหลักฐานในที่เกิดเหตุ พบว่า มีเมทานอลปนเปื้อนในปริมาณที่สูง จากนั้นได้มีการขยายผลไปอีก 18 จุด ที่รับสินค้าไปจำหน่าย ซึ่งได้เก็บหลักฐานของกลางมาส่งตรวจวิเคราะห์ ว่ามีการปนเปื้อนในเมทานอลหรือไม่อย่างไร?
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ลักษณะโรงงานที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกับตำรวจ และกรุงเทพมหานครเมื่อวานนี้ เป็นการลักลอบผลิต โดยซื้อแอลกอฮอล์ ทั้งเมทานอล เอทานอล นำมาผสมน้ำเปล่า จากนั้นใช้อุปกรณ์วัดดีกรีแล้วส่งไปขายต่อ เป็นการขายในลักษณะ เหล้าขาว และจากการสอบปากคำผู้ผลิต บอกว่า ไม่ทราบว่าเป็นเมทานอล เพราะเมทานอลเป็นเคมีภัณฑ์ ดูลักษณะทางกายภาพไม่ได้ ต้องตรวจทาง Lab เท่านั้น
อีกทั้งจากการสอบถามยังพบว่า มีภูมิความรู้ในการผสมสูตร โดยจะเอาเมทานอล หรือ เอทานอล มาผสม และเอาไปเจือจางน้ำ จากนั้นก็จะเอาปรอทมาวัดดีกรี ให้ได้ 35-40 ดีกรี ซึ่งจุดที่กระจายส่งออกไปอยู่ย่านนี้ประมาณ 18 จุด ซึ่งจะขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ขอเตือนว่าการผลิต และจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษทั้งจำและปรับ
โดยร้านยาดองทั้ง 18 แห่ง มีความผิด ฐานจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย และหากผลตรวจออกมาว่ามีสาร ประเภทเมทานอลปนเปื้อน ก็จะมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
ด้าน พันตำรวจเอกอิสระ ณ พัทลุง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 บอกอีกว่า ในส่วนของคดี แบ่งเป็น 2 ส่วน ฝ่ายสืบสวนได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ที่ทราบว่ามีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา เบื้องต้นได้เก็บพยานหลักฐาน ตัวอย่างของกลางจากแหล่งจำหน่าย 3 แหล่ง ที่ประชาชนมาซื้อไปที่ซอยสามวา , หทัยราษฎร์ , นิมิตรใหม่ และเมื่อวาน ได้ไปตรวจสอบของกลางร่วมกับกรมสรรพสามิต จะแยกของกลางเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้กรมสรรพสามิตตรวจเพื่อทราบผลอย่างเร็ว
และอีกส่วนจะส่งตรวจกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ประกอบสำนวนคดี ในส่วนของพื้นที่มีนบุรี ที่มีผู้เสียชีวิต ตอนนี้ได้ส่งพิสูจน์ อยู่ระหว่างรอผลเพื่อนำมาเชื่อมโยงการกระทำความผิด
นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา บอกว่า ส่วนของกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการทั้ง 50 เขต ให้มีการเฝ้าระวัง และประชาสัมพันธ์ โดยให้ผู้นำชุมชนได้ไปสื่อสารกับประชาชนในชุมขนของตนเอง รวมถึงมีอาสาสมัครสาธารณสุข จากศูนย์สาธารณสุข ที่เข้าไปช่วยคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง และขอประชาสัมพันธ์ประชาชนให้หลีกเลี่ยงร้านที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ไม่มีใบอนุญาต
ทั้งนี้ มีความกังวลใจเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะนี้ จะเป็นแรงงาน หรือคนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่ ก็ตัวคนเดียว จึงจะต้องประสานญาติอีกครั้ง และทางสำนักงานเขตก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการดูแลด้วย และหลังจากนี้ก็จะไปดูสิทธิในการรักษาเยียวยา
18 จุดซุ้มยาดอง ที่รับสุราผสมเมทานอลไปจำหน่าย ประกอบด้วย 6 เขต คือ
เขตมีนบุรี
- ซอยสามวา1
- ซอยเสรีไทย 95
- ตลาดบางชัน
- หน้าเคหะรามคำแหง
- ตรงข้ามโรงเรียนสุดใจวิทยา (ถนนหทัยราษฎร์)
เขตหนองจอก
- ซอยสุวิทนวงศ์ 64
เขตคลองสามวา
- ถนนเจริญพัฒนา (ตลาดกีบหมู)
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 7 แยก 1
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 7
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 9
- ประชาร่วมใจ 19
- ประชาร่วมใจ 43/1
- ซอยนิมิตรใหม่ 9
- ซอยสามวา 11/1
- ซอยหทัยราษฎร์ 33
เขตลาดกระบัง
- ตลาดบึงใหญ่ บัวใหญ่
- ถนนคุ้มเกล้า
เขตประเวศ
- ซอยอ่อนนุช 70
เขตคันนายาว
- ซอยเสรีไทย 38