ข่าว

ชาวประมง ฟ้องแพ่ง บ.เอกชน ชดใช้หลายพันล้าน นำเข้าปลาหมอคางดำ

ชาวประมง ฟ้องแพ่ง บ.เอกชน ชดใช้หลายพันล้าน นำเข้าปลาหมอคางดำ

05 ก.ย. 2567

ชาวประมงหลายกลุ่มรวมตัว ฟ้องแพ่ง บ.เอกชน ต้นตอแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ชดใช้หลายพันล้าน ขณะที่สภาทนายความ ยื่นฟ้อง 18 หน่วยงานรัฐ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

5 ก.ย. 2567 นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง พร้อมชาวบ้านกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมงพื้นบ้าน ในเขตอําเภออัมพวา อําเภอบางคนที และอําเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นตัวแทนชาวบ้านกว่า 1,400 คน ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ พร้อมด้วยคณะทำงานสิ่งแวดล้อมจากสภาทนายความฯ เดินทางมายังศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อยื่นฟ้องบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ และกรรมการบริหารรวม 9 คน ในคดีสิ่งแวดล้อม

 

นายปัญญา เปิดเผยว่า พวกตนได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิ์มานาน การประกอบอาชีพนั้น ย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ทั้ง ปลา กุ้ง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ซึ่งตอนนี้ในบ่อที่เลี้ยงมีแต่ปลาหมอคางดำ 

ตั้งแต่ที่ตนเองและกลุ่มสมาชิกพบปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2555 แต่ที่รุนแรงช่วงปี 2559-2560 ซึ่งตนเองและกลุ่มสมาชิกเคย ร้องเรียนแล้วหลายที่ ทั้งนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไร จากตอนแรกแค่ในจังหวัดตนเอง ตอนนี้แพร่ระบาดไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศแล้ว และรัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแลเยียวยา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มาร้องศาลแพ่งให้ช่วยเหลือจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ

 

การดำเนินคดีเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทน จากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีคําขอบังคับให้บริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม

 

ชาวประมง ฟ้องแพ่ง บ.เอกชน ชดใช้หลายพันล้าน นำเข้าปลาหมอคางดำ

สำหรับจํานวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น2กลุ่ม


1.กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจํานวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

 

2.กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจํานวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่ เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่ในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

 

กลุ่มตัวแทนจากสภาทนายความ

 

นอกจากนี้ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพ ประมงพื้นบ้าน จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ก็จะยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบไปด้วย

1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8. อธิบดีกรม ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

9. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจดั การทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีวา่ การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16.กระทรวงมหาดไทย 17.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง 

 

ผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด และให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจาก บริษัทเอกชน ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย

 

ต่อมาว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดี สภาทนายความ ระบุว่า ภายหลังไปทำเรื่องฟ้อง ศาลนัดไต่สวนคำร้องอีกครั้งหนึ่ง คือ วันที่ 4 พ.ย.67 เวลา 9.00 น. ซึ่งวันนี้เป็นการรับไต่สวนคำร้องในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยในวันดังกล่าวจำเลยจะสามารถยื่นคัดค้านคำร้องเข้ามาได้ และในการไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่มนั้น เราจะต้องแสดงให้เห็นว่า สมาชิกกลุ่ม มีขอบเขตอย่างไรให้ชัดเจนในกรณีที่จะเลือกใช้ขอบเขตของจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยจะใช้ จ.สมุทรสงครามเป็นขอบเขตในจังหวัดแรก และใช้อาชีพของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยง โดยใน จ.สมุทรสงครามมีสมาชิก ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงทั้งสิ้น 1,400 คน และเวลาในการไต่สวนจะต้องทำให้เห็นว่าสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกันอย่างไร 

 

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย มั่นใจหลักฐานที่ค่อนข้างมั่นสามารถเอาผิดและฟ้องแพ่งผู้ประกอบการ และมีหลักฐานเอกสารทางราชการ ที่บอกว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาและเพาะเลี้ยงเป็นที่แรก จากกรณีที่ก่อนหน้าประเทศไทยไม่เคยมีปลาหมอคางดำมาก่อน