2 สาว แพ้ยาหนัก จนเป็น "โรคสตีเวนส์จอห์นสัน" ผิวหนังผิดปกติ ตามองไม่เห็น
2 สาว ร้อง สธ. ช่วยรักษา หลัง รพ. ฉีดยา เกิดอาการจนแพ้หนัก ตามองไม่เห็น ผิวหนังผิดปกติ แพทย์แจ้ง เป็น "โรคสตีเวนส์จอห์นสัน" กระทบชีวิต เดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ไร้การเยียวยา
9 ก.ย. 2567 นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พร้อมทีมงาน พาผู้เสียหาย 2 ราย ร้องขอความเป็นธรรมกับ นายธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสาธารณสุข หลังเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลแล้วเกิดการแพ้ยาจนเป็น "โรคสตีเวนส์จอห์นสัน" หรือ ความผิดปกติของผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวชนิดรุนแรง ทำให้ดวงตามองไม่เห็นและกระทบกับการใช้ชีวิต
นายเอกภพ ระบุว่า ผู้เสียหายทั้ง 2 คน ที่มาวันนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะมาเอาผิดโรงพยาบาล เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้วสิ่งที่อยากได้คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตา เพื่อมารักษาให้หายปกติ และกลับไปประกอบอาชีพได้ เพราะผู้เสียหายทั้ง 2 คน มีปัญหาเรื่องตามาก คนแรกทำงานไอที วัย 31 ปี ตามองไม่เห็นแล้ว1ข้าง อีก1คน ตามองเห็นแค่ 40% นอกจากนี้ยังมีปัญหา ผิวหนัง อยากให้หมอมาช่วยดูแล เพราะเริ่มเป็นพังผืด
ทั้งนี้หลังออกจากโรงพยาบาลผู้เสียหายทั้ง 2 คน ก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ ต้องมารักษาเอง จึงอยากให้ทั้ง 2 โรงพยาบาล มาพูดคุยถึงขั้นตอนเยียวยาและการรักษา เพราะระหว่างที่ผู้เสียหายไม่สามารถทำงานได้ จะช่วยเหลืออย่างไร ผู้เสียหายไม่ได้มีเจตนามาเอาเงิน แต่อยากได้รับการช่วยเหลือ
ขณะที่นายธนกฤต สั่งการให้กรมส่งเสริมสุขภาพและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดชุดลงพื้นที่โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งที่ผู้เสียหายไปรับการรักษา เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาได้รับมาตรฐานหรือไม่ ตรวจสอบประวัติผู้ป่วยว่าเข้ามารักษาด้วยโรคอะไร จะต้องมีการสอบสวนเกิดขึ้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือไม่ หรือเกิดจากร่างกายผิดปกติ ซึ่งมีข้อสงสัยยาที่นำไปฉีดว่า มีมาตรฐานหรือไม่ การรักษาเป็นไปตามเวชปฏิบัติและมีการลงรายละเอียดการรักษาไว้อย่างไร รวมถึงมีการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างไร ซึ่งตนเองมอบหมายให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าทำการตรวจสอบจอประสาทตาผู้เสียหายทั้ง 2 รายโดยเร่งด่วนว่าจะสามารถกู้กลับมาได้หรือไม่
ส่วนการแพ้ยาเป็นเรื่องปกติที่ต้องถูกถาม แต่บางคนก็ไม่เคยแพ้ยามาก่อน ก็จะไม่ทราบว่า แพ้ยาอะไร รวมถึงดูถึงการวินิจฉัยเป็นอีสุกอีใส ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรม วันนี้จึงยังไม่ฟันธงว่า เกิดจากการรักษาที่ผิดพลาดหรือไม่ จะให้ความช่วยเหลือข้อกฎหมายว่า เป็นการละเมิดต่อตัวผู้รักษาหรือไม่ เบื้องต้นทางโรงพยาบาลจะต้องรับผิดชอบการรักษาในการเจ็บป่วยของผู้เสียหายทั้ง 2 คน ตามหลักมนุษยธรรม
นายธนกฤต ยืนยันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากการรักษาทั้งหมด ดังนั้นหากย้อนกลับไป แม้อาจจะทำเวชปฏิบัติถูกต้อง แต่โรงพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบการรักษามากกว่าสิทธิประกันสังคม และเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบเวชระเบียนการรักษาได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะหากเปลี่ยนแปลงเวชระเบียนจะมีความผิด ในฐานทำเอกสารเท็จ
ด้าน น.ส.เอ (นามสมมุติ) สาวไอที วัย 31 ปี 1 ในผู้เสียหาย เล่าว่า ตนเองเริ่มต้นเป็นตาแดงวันที่ 20 มิ.ย. เข้าไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งแรก หมอบอกเป็นทอมซิล ให้มาฉีดยาให้ครบ 3 เข็ม หลังจากฉีดยาก็กลับบ้าน พอกลับบ้านเริ่มมีไข้หนาวสั่นและมีผื่นขึ้นตามตัว ใบหน้า และปาก จึงรอวันถัดไป เพื่อไปฉีดยาที่โรงพยาบาล พอหมอเห็นอาการ ก็บอกว่า ผิดปกติ จึงส่งไปหาหมอเฉพาะทาง หมอบอกแพ้ยา และเข้าแอดมิดวันที่ 21 มิ.ย.
จากนั้นก็ยังฉีดยาเข็มแรกเหมือนเดิม ต่อมาตาพล่ามัว มองไม่เห็นหนักกว่าเดิม จึงเข้าไอซียู รักษาตัว 21-26 มิ.ย. และดวงตาไม่มีอาการตอบสนองแล้ว จนวันที่ 25-26 มิ.ย. หมอแจ้งญาติว่า เป็นสตีเวนส์จอห์นสัน อาการโคม่า และถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งที่สอง
ซึ่งโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ใช้วิธีการรักษา คือ ลอกผิวที่ตายแล้ว พันผ้า ห้ามออกแรง และแจ้งว่า เสี่ยงตาบอก 80% ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดใส่รกที่ตา ขณะนั้นรักษาเป็นเวลา 2 เดือน ก็กลับมารักษาที่โรงพยาบาลแห่งที่ 1 อีก 3 สัปดาห์ และเข้าผ่าตัดใส่รกตา
น.ส.เอ เล่าต่อว่า สิ่งที่ตนเองรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะ โรงพยาบาลที่ 1 ลืมส่งตัวรับการผ่าตัดโรงพยาบาลที่ 2 และให้ไปซื้อรกตาที่สภากาชาดเอง แล้วรอผ่าตัด ซึ่งพอตนเองไปติดต่อโรงพยาบาลที่ 2 แจ้งว่า ยังไม่ได้รับเรื่อง ทำให้เรารู้สึกกังวล แต่ดัวยความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลที่ 2 ไปซื้อรกตาให้ ทำให้ได้รับการผ่าตัด ยอมรับว่า ทุกวันนี้มีผลกระทบชีวิตทุกอย่าง ต้องหยอดตาทุก 1 ชม. และการใช้ชีวิต ต้องมีคนคอยพยุงเดิน ทีวีก็ยังดูไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการมากที่สุดตอนนี้คือเรื่อง ดวงตา เพราะกลัวตาจะบอด
นอกจากนี้โรงพยาลบาลยังบอกต้องไปรักษาเอง และมีเรื่องปากไม่เท่ากันด้วย ซึ่งก่อนออกจากโรงพยาบาล ตนเองก็แจ้งไปแล้ว เพื่อให้หาทางรักษา แต่โรงพยาบาบกลับแจ้งว่า "ให้รักษาตามสิทธิประกันสังคม ไม่ได้รับผิดชอบการรักษาใดๆ"
ด้าน น.ส.บี อายุ 35 ปี ผู้เสียหายอีกราย มีอาการเหมือนกัน แต่รักษากันคนละโรงพยาบาลกับผู้เสียหายรายแรก เล่าว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ตนเองมีอาการมีไข้สูง จึงพบหมอที่โรงพยาบาลแห่งแรก หมอตรวจไข้หวัดใหญ่ ไม่พบ ตรวจเลือด ฉีดยา 1 เข็ม และให้ยาฆ่าเชื้อกลับบ้าน คืนนั้นก็กินยาฆ่าเชื้อไป ตื่นเช้ามารู้สึกแสบตาแล้วเจ็บในช่องปาก ก็ทานข้าวทานยาอีก 1 เม็ด พอช่วงสายๆ ตาแดง เจ็บในปาก หน้าแดง มีตุ่มขึ้น ไข้สูง ก็กลับไปหาหมอที่โรงพยาบาลเดิม พอหมอเห็นเรามีตุ่มเลยส่งไปพบแพทย์ผิวหนัง โดยหมอวินิจฉัยว่า ตนเองน่าจะเป็นเริม เลยตรวจปัสสาวะ เจาะน้ำที่ตุ่มในปากไปตรวจก็ไม่พบ ตนเองเลยเลยแจ้งหมอว่า น่าจะแพ้ยาหรือไม่ แต่หมอบอกว่า ไม่น่าจะใช่
จากนั้นพอกลับบ้าน อาการออกชัดขึ้นเรื่อยๆ เลยไปพอหมอโรงพยาบาลที่ 2 ซึ่งตอนนั้นไข้สูง หมอวินิจฉัยว่า น่าจะแพ้ยาหรือไม่ ก็เลยแอดมิดที่โรงพยาบาลที่ 2 และตนเองติดต่อโรงพยาบาลแรกไป แต่ก็ไม่ได้รับผิดชอบใดๆ ยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบการทำงานและสายตาไม่ได้กลับมา100% รวมถึงยังเป็นแผลเป็นครึ่งตัว แล้วเดี๋ยวเล็บจะหลุดด้วย
ด้านแพทย์หญิงจันทิรา แก้วสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยด้านการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ระบุเพิ่มเติมว่า โรคกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน สามารถเกิดจากยาหรือเกิดจากเชื้อไวรัส หรือเกิดจากมะเร็ง ซึ่งเป็นได้ทั้ง 3 อย่าง กรณีของผู้เสียหายต้องตรวจสอบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ละคนเกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน จะการติดเชื้อบางอย่างก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ยอมรับว่า บอกได้ยาก เพราะสาเหตุที่มากระตุ้นต่างกัน ถ้าเกิดขึ้นมาแลัว ต้องรักษาให้ดีที่สุด ส่วนยาประเภทไหนที่จะทำให้เกิดสตีเวนส์จอห์นสันนั้น สามารถเป็นได้หลายชนิด ทั้งกลุ่มยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ และยาอื่นๆ แล้วแต่ร่างกายและภูมิคุ้มกันของบุคคล
จากนั้นแพทย์หญิงจันทิรา ตรวจสอบดวงตาของผู้เสียหายวัย 31 ปี เบื้องต้น พบว่า ตาด้านซ้ายมีรอยขุ่นที่กระจกตาด้ายซ้าย ทำให้การมองเห็นลดลง ต่อมามีรถพยาบาลมารับตัวไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อตรวจจอประสาทตา เพราะต้องได้รับการตรวจเฉพาะทาง