ข่าว

ย้อนไทม์ไลน์ 20 ปี โศกนาฏกรรมคดีตากใบ จนถึงวันขาดอายุความ บิ๊กทหาร-ตำรวจ ส่อรอด

ย้อนไทม์ไลน์ 20 ปี โศกนาฏกรรมคดีตากใบ จนถึงวันขาดอายุความ บิ๊กทหาร-ตำรวจ ส่อรอด

13 ก.ย. 2567

ย้อนไทม์ไลน์ 20 ปี โศกนาฏกรรมคดีตากใบ จากวันสลายการชุมนุม จนถึงวันใกล้หมดอายุความ อดีตแม่ทัพน้อยใหญ่ ส่อรอดนอนคุก

ภาพเหตุการณ์

อีกเพียง 1 เดือนเศษ จะหมดอายุความ 20 ปี เหตุสลายการชุมนุม ที่บริเวณ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ย้อนไทม์ไลน์ เหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่25 ต.ค. 2547 ครั้งนั้นกลุ่มคนในพื้นที่ชุมนุมกันนับพันคน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ

 

ผลของการสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 78 คน ขณะนำผู้ถูกควบคุมตัวกว่า 1 พันคน ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดจากการนำตัวไปที่ค่าย เนื่องจากขาดอากาศหายใจ  

 

ต่อมาคดีจบลงด้วยการประนีประนอมยอมความ โดยกระทรวงกลาโหมจายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย และต่อมามีการจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท 

หลังเกิดเหตุ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2548 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่า วิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพราน ซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอ เข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม

 

ในด้านคดีความ ปี 2552 ศาลจังหวัดสงขลา ไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ ในส่วนผู้เสียชีวิต 78 คน ว่า พฤติการณ์ที่ตายมาจาก ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

 

25 เม.ย. 2567 คดีกลับสู่กระบวนการอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ส่งสำนวนคดีอาญาของ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยัง อัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

ขณะที่ นางสาวฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ผู้แทนนายอาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง ผู้ตายที่ 1 กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตรวม 48 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย

 

23 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีจำเลย 7 คน เป็นคดี อ578/2567 ประกอบด้วย

  • พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 1
  • พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5 จำเลยที่ 3
  • พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว. จำเลยที่ 4
  • พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว. จำเลยที่ 5
  • พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบ จำเลยที่ 6
  • นายศิวะ แสงมณี ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 8
  • นายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้น เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จำเลยที่ 9

 

และยกฟ้องจําเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง 2 คน คือ

  • พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 จำเลยที่ 2
  • พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผกก.สภ.ตากใบ จำเลยที่ 7

 

12 ก.ย. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดสอบคำให้การจำเลย 7 คน โดยทั้ง 7 คนไม่ได้เดินทางมาศาล จึงออกหมายจับจำเลย 6 คน ให้มาศาล ขณะที่ ในส่วนของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 1 มีเอกสิทธิสส.คุ้มครอง ศาลไม่มีอำนาจออกหมายจับ จึงมีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้อนุญาตให้จับจำเลยที่ 1

 

เพื่อให้มาศาล ในวันที่ 15 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

 

อย่างไรก็ดี คดีมีกำหนดอายุความ 20 ปี และจะครบอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 2567

 

ดังนั้น ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยทั้งหมดมาศาลภายในวันที่ 25 ต.ค. 2567 เท่ากับคดีขาดอายุความ ผลของคดีคือ ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และจำเลยทั้งหมดจะไม่มีคดีติดตัว