ข่าว

สั่งพักราชการอธิบดีศาล ลวนลามเจ้าหน้าที่สาวบนรถไฟ

16 ก.ย. 2567

ก.ต. สั่งพักราชการอธิบดีศาล ลวนลามเจ้าหน้าที่สาวบนรถไฟ หลังตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรง อีกรายให้ออกผู้พิพากษาอาวุโส มีมลทินมัวหมอง

16 ก.ย. 2567 ที่ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น 3 อาคารศาลยุติธธรรม ถนนราชดำเนินใน เขตพระนคร นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานการประชุม คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ครั้งที่ 24/2567 โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ มีประเด็นสำคัญ อาทิ สั่งพักราชการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลคนหนึ่ง ที่เคยเป็นข่าว เรื่องลวนลามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์หญิง เหตุเกิดบนรถไฟ เป็นต้น

 

โดยหัวข้อเรื่องที่ 6 มีการพิจารณากรณีพักราชการข้าราชการตุลาการ จำนวน 1 ราย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกรณีที่พักราชการผู้พิพากษานั้นเป็นกรณีอธิบดีผู้พิพากษาศาลคนหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาลวนลามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ผู้หญิงบนรถไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้อธิบดีผู้พิพากษาคนดังกล่าวถูกเเขวนไว้ ยังไม่พิจารณาอนุญาตให้ไปดำรงตำเเหน่งใดๆ จนกว่าผลการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

จากเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาประธานศาลฎีกาได้เซ็นคำสั่งย้ายอธิบดีศาลที่ถูกกล่าวหาคนดังกล่าวไปช่วยราชการชั่วคราวในตำเเหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2567 หลังจากนั้นก็มีการสอบสวนข้อเท็จจริงจนการประชุม ก.ต. ครั้งก่อนหน้านี้

 

ภายหลังมีการสอบสวน ทาง ก.ต.ได้พิจารณามีความเห็นจากผลการสอบสวนข้อเท็จจริงพิจารณาเเล้วมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรง เเละมีการเสนอพักราชการ จนที่ประชุมในวันนี้มีมติให้ พักราชการอธิบดีผู้พิพากษาคนดังกล่าว ภายหลังจากที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายเเรง

 

ในส่วนการดำเนินคดี มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ผู้เสียหายหญิงสาวที่ถูกอธิบดีศาลยุติธรรมรายหนึ่ง พยายามลวนลามบนรถไฟ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. แล้วเเละพนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้เสียหายรายโดยมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้เป็นการเฉพาะแล้ว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการระดับสูงและคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ก.ต.ยังพิจารณารายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการตุลาการ กรณีแสดงพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา ใช้ถ้อยคำเสียงดังอันมีลักษณะข่มขู่พยานและวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานอื่น เป็นการไม่รักษาวินัยโดยเคร่งครัด และในเวลาพิจารณาพิพากษาคดี ไม่อยู่ในมารยาทอันดีงาม เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติ ของทางราชการ และจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามที่ ก.ต. กำหนด ตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 55 และ มาตรา 62 ประกอบประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 3 และข้อ 6 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นสมควรลงโทษภาคทัณฑ์

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ก.ต. พิจารณารายงานผลการสอบสวนวินัยข้าราชการตุลาการ จำนวน 1 ราย ดังนี้ กรณีมีพฤติกรรมคบหาสมาคมกับคู่ความ หรือบุคคลอันมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์ เกี่ยวข้องกับคดี หรือบุคคลซึ่งมีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย และไม่ถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรมและกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป ในการประสาทความยุติธรรมของผู้พิพากษา อันเป็นการประพฤติผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 14 และข้อ 43 และกรณีไม่ระมัดระวังการประกอบอาชีพ อื่นใดของคู่สมรส มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป ในการประสาทความยุติธรรรมของผู้พิพากษาอันเป็นการประพฤติผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 40

 

ถือเป็นการกระทำอันมีมลทินมัวหมองหากให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ เห็นสมควรให้ออกจากราชการ โดยมีรายงานว่าปัจจุบันผู้พิพากษาคนดังกล่าวดำรงตำเเหน่งผู้พิพากษาอาวุโสอยู่ ซึ่งเดิมเคยมีตำเเหน่งระดับบริหารในศาลยุติธรรม

 

ส่วนกรณีที่ปรากฎข้าราชการตุลาการรายหนึ่ง ถูกสอบสวนวินัยร้ายแรง จากกรณีถูก 1 ในแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทำหนังสือร้องเรียนว่ามีการเรียกรับทรัพย์สินเพื่อล้มคดี

 

โดยที่ผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง มีการนำเสนอให้ที่ประชุมอนุกรรมการตุลาการ (อ.ก.ต.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 เเละที่ประชุมมีมติให้ไล่ออก พร้อมให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ในวันนี้เรื่องดังกล่าวที่ประชุม ก.ต. ยังไม่ได้มีการพิจารณาเนื่องจากวาระการพิจารณามีจำนวนมากยังพิจารณาไม่ทัน