“ก.ร.ตร.” ชี้ถ้า ”รองฟาง” เบี้ยวเข้าให้ปากคำ อาจถูกให้ออกราชการ
“ก.ร.ตร.” ชี้ถ้า “รองฟาง” เบี้ยวนัด ไม่เข้าให้ปากคำ อาจมีผลถึงขั้นถูกให้ออกจากราชการ กรณีทนายตั้มร้องเรียนเอี่ยวส่วยเว็บพนันและ 18 ธุรกิจ
19 ก.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานจเรตำรวจ ถนนรามอินทรา (ท่าแร้ง) พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม ประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีต ผบช.ปส.และ คณะกรรมการ ก.ร.ตร. กล่าวถึงกรณีการเรียก พ.ต.ท.สุรกุล หรือ รองฟาง รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 เข้ามาให้ปากคำต่อคณะกรรมการ ก.ร.ตร. หลังทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ยื่นเรื่องร้องเรียนว่ามีเส้นทางการเงินพัวพันส่วย 18 ธุรกิจ และเอี่ยวเว็บพนันออนไลน์
โดย พล.ต.ท.สรศักดิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ก.ร.ตร. กล่าวว่า วันนี้มีการเชิญผู้ที่ถูกร้องเรียนอีก 1 คน เข้ามาให้ข้อมูลในสำนวนดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันว่าจะมาตามนัดหมายหรือไม่ หากมาก็จะมีการไต่สวน ขอยืนยันว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ จะทำเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ เพื่อความเป็นธรรม
สำหรับกระบวนการในการทำงาน ในกรณีนี้พยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ค่อนข้างมีจำนวนมาก แล้วต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถร่วมกันวินิจฉัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารการไต่สวน รวมถึงติดต่อไปยังบุคคลที่ถูกกล่าวหา ว่าติดขัดประการใดหรือไม่ แต่เบื้องต้นมีการชี้แจงเป็นเอกสาร และไม่มีการยืนยันว่าจะไม่มาพบคณะกรรมการ
แต่หากไม่มาวันนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเชิญครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น ว่ากรณีดังกล่าวมีมูลหรือไม่ ทั้งนี้ก็อยู่ที่มติ ของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจว่าจะมีมติว่าอย่างไรต่อไป
ด้าน พล.ต.ท เรวัช กล่าวว่า ทั้งนี้หากผู้ที่ถูกเชิญให้มาพบ ก.ร.ตร. ไม่เข้ามาให้ปากคำก็จะเป็นข้อเสียต่อตัวผู้ถูกร้อง เนื่องจากถือเป็นโอกาสที่จะให้เข้ามาแก้ตัว ส่วนจะมีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากถือเป็นพยานหลักฐาน
ตนขอชี้แจงกรณีที่สังคมกล่าวหาว่า คณะกรรมการฯ มีความลำเอียงในคดีระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่า ในคดีของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ เป็นเรื่องของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดำเนินการลงโทษและตั้งคณะกรรมการสอบสวนกันเอง และสอบสวนทางวินัยร้ายแรงมีโทษให้ออกจากราชการไว้ก่อน
ส่วนคณะของตน เป็นคณะกรรมการพิจารณา เรื่องร้องเรียน ตำรวจ จะทำเป็นขั้นตอน เมื่อได้รับ เรื่องร้องเรียนจะมีการประชุมกันว่า จะรับเรื่อง ไว้หรือไม่ แต่ในเรื่องนี้มีมติ เป็นเอกฉันท์ทั้งองค์คณะ ว่าจะรับ ซึ่งจะตั้งผู้ช่วยไต่สวน เมื่อตั้งผู้ช่วยไต่สวนเสร็จจะต้องมีกรอบเวลา ตรวจสอบว่า ตัวผู้ช่วยไต่สวนมีปัญหาโกรธเคือง กับฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือไม่ โดยใช้เวลา 30 วัน รอให้ตอบกลับมา แต่ก็ถูกค้านไป 4 คน ตนก็ไม่มีคนทำงานให้ ก็ต้องให้ทางจเรตำรวจ ส่งเจ้าหน้าที่มาให้ แต่เมื่อมาถึงก็ต้องมีการคัดกรองอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้ขั้นตอนช้าลง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่พนักงานสอบสวนสามารถสอบได้เต็มที่และสั่งฟ้องได้เลย
ตนตั้งใจจะเร่งทำสำนวนให้เสร็จภายในเดือนกันยายน แต่คงไม่ทัน เนื่องจากพยานหลักฐานที่ยื่นมาค่อนข้างเยอะ และจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน แต่หากไม่มาอาจจะถูกคณะกรรมการพิจารณา ให้ออกจากราชการได้เลย เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรืออาจส่งเรื่องไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา โดยผู้ถูกร้องสามารถ ไปยื่นเรื่องที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ของสำหรับคณะตนเหมือน ปปช.ตำรวจ แต่คณะ ก.พ.ค.ตร.เหมือนศาลชั้นต้นตำรวจ ในการเชิญมาก็เพื่อให้มาโต้แย้งว่า เงินดังกล่าว เป็นค่าอะไร แล้วเชื่อถือได้หรือไม่” พล.ต.ท.เรวัช กล่าว