ข่าว

ลุ้น! "เอกราช ช่างเหลา" ศาลตัดสิน คดียักยอกทรัพย์เงินสหกรณ์ฯ กว่า 431 ล้าน

ลุ้น! "เอกราช ช่างเหลา" ศาลตัดสิน คดียักยอกทรัพย์เงินสหกรณ์ฯ กว่า 431 ล้าน

07 ต.ค. 2567

ศาลนัดฟังคำตัดสิน "เอกราช ช่างเหลา" ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ครูขอนแก่น 431 ล้าน หลัง ป.ป.ช. ลงมติชี้มูล ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

7 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้ทำหนังสือ แจ้งข่าวความเคลื่อนไหวจากประธานกรรมการ ลงวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยรายละเอียดในหนังสือระบุว่า 

 

เรียน สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ทุกท่าน ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 กำหนดให้จำเลย คือ นายเอกราช ช่างเหลา นำหลักทรัพย์มูลค่า 130 ล้านบาท มาวางประกันหรือนำเงินจำนวน 100 ล้านบาท ชำระค่าเสียหายให้กับสหกรณ์ฯ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการ ศาลจังหวัดขอนแก่น นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น. จึงแจ้งให้สมาชิกทราบโดยทั่วกันเผื่อท่านใดมีความประสงค์ไปร่วมรับฟังคำพิพากษาดังกล่าว ขอแสดงความนับถือ

เส้นทางคดียักยอกทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น กว่า 431 ล้านบาท 

 

สำหรับคดีนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายเอกราช ช่างเหลา สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณี เมื่อครั้งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จนทำให้สหกรณ์ มียอดเงินขาดบัญชี ตั้งแต่ปี 2554 - 2562 เป็นเงินจำนวนถึง 431,826,070.43 บาท 

 

และเพื่อเป็นการปิดบังอำพรางการกระทำความผิดของตนเอง ยังได้ทำได้ทำการปลอมแปลงรายการในเอกสารสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำของสหกรณ์ และจัดทำหรือรับรองรายงานสถานะทางการเงินเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอันเป็นความเท็จ เพื่อให้สหกรณ์และละสมาชิกหลงเชื่อว่า สหกรณ์ มียอดเงินคงเหลือตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวจริง โดยเป็นการกระทำต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 จนถึง เดือนสิงหาคม 2562

 

โดยช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว และนายเอกราชช่างเหลา ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์ จงใจไม่ชำระหนี้เงินขาดบัญชีที่เกิดจากการกระทำของตนเองคืนให้ กับ สหกรณ์ฯ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จนในปี 2564 
 

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ในข้อหาเกี่ยวกับการร่วมกันยักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้เป็นการชั่วคราว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มติเห็นชอบตามสำนวนไต่สวนคดีเบื้องต้น ว่า การกระทำของ นายเอกราช ช่างเหลา ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

โดยประพฤติ ตน ไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน และกระทำการ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ ของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 

 

รวมทั้ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ข้อ 19 ประกอบข้อ 3 วรรคสอง และข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ต่อไป อย่างไรก็ตาม การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ยังถือว่าไม่เป็นที่สุด นายเอกราช ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ยังคงสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอย่างถึงที่สุดออกมา