อัยการเปิดข้อกฎหมาย หากบริษัทดังหลอกลวงจริง งานนี้เหล่าดาราก็หนาว
อ่วมถ้วนหน้า อัยการกางข้อกฎหมาย หากบริษัทดังหลอกลวงจริง ผู้เสียหายเอาผิดได้ทั้งคดีอาญา-แพ่ง งานนี้เหล่าดาราก็หนาว
9 ต.ค. 2567 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) กล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนกรณีที่มีการออกมาเเฉบริษัทดังหลอกลงทุนออนไลน์ โดยมีพรีเซนเตอร์เป็นดาราระดับซูปเปอร์สตาร์ มาทำการโฆษณาให้คนหลงเชื่อ แล้วไม่ได้กำไรตามที่ตกลงกันไว้ จนเริ่มมีผู้เสียหายออกมาร้องเรียน ว่า
ขอตอบในฐานะอัยการคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของสุจริตชน มันจะมีข้อกฎหมายที่ต้องตะหนักเเละระวังคือ ข้อหาตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ในเรื่องข้อมูลอันเป็นเท็จ เหมือนการไลฟ์สดขายของ ถ้าข้อความไม่จริง มันก็คือความเท็จ ตรงนี้ต้องระวัง
ข้อหาต่อไปคือ ฉ้อโกง เเละหากมีการเผยเเพร่ในโซเชียล ก็จะเป็นฉ้อโกงประชาชน
ดาราหรือคนดังทั้งหลายที่ไปรับจ้างไลฟ์สด ต้องระมัดระวังตรวจสอบสินค้าที่ผู้ว่าจ้างให้โฆษณา มันจะมีบางกรณีที่มีการเชิญชวนให้ลงทุนร่วมกัน โดยให้ดาราไม่ต้องลงเงินเเต่ลงเเรงโฆษณาเชียร์สินค้า ตรงนี้ต้องระวังตรวจสอบให้ดี ที่ผ่านมาเคยมีดารามาขอคำเเนะนำจากทางอัยการ สคช.ว่า มีคนเชิญให้เป็นหุ้นลม โดยจะต้องโฆษณา ยอมรับว่าเป็นเจ้าของสินค้า เราก็เตือนว่าถ้าสินค้าเกิดเป็นอันตราย ไม่เป็นไปตามโฆษณา จะมีผลทางเเพ่งเเละอาญาตามมาที่ต้องรับผิดชอบ
ส่วนที่มีข่าวว่าทางหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่า เป็นลักษณะการไปลงทุน แล้วไม่ได้กำไรตามที่ตกลงกันไว้ จึงไม่ได้เป็นการฉ้อโกงนั้น เรื่องเเบบนี้พิสูจน์ไม่ยาก ถ้ามีการลงทุนจริง ทำธุรกิจจริง ค้าขายเเล้วไม่ได้กำไร เเละเมื่อมีการละเมิดสิทธิก็สามารถใช้สิทธิไปร้องคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเเจ้งความกับตำรวจ ทั้งสองหน่วยงานมีอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานที่จะสอบสวนหาความจริง ซึ่งต้องสอบสวนทั้งผู้กล่าวหาเเละผู้ถูกกล่าวหา เเล้วจะค่อยสรุปว่าเรื่องนี้เป็นการลงทุนค้าขายปกติหรือเป็นการหลอกลวง ต้องสอบสวนให้ได้ความจริงก่อน ค่อยดำเนินคดีให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
ในส่วนที่ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีผู้เสียหายร้องเรียนไปหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค แล้วมีการวินิจฉัยออกมาว่า ผู้ร้องสมัครเป็นสมาชิกเพื่อร่วมประกอบธุรกิจเพื่อรับผลตอบแทนจากกำไรขายปลีกตามข้อตกลง ทำให้ไม่ใช่ผู้บริโภค ตาม พรบ.ขายตรงฯนั้น
นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า ต้องดูตามอำนาจหน้าที่จากการสอบสวนหาความจริงอย่างที่เรียนไว้ข้างต้น ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ด้าน คือ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเเละเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีอำนาจสอบสวน ตรงนี้จะเป็นการคุ้มครองสิทธิ หากอีกหน่วยวินิจฉัยอย่างไรก็ตามไม่ตัดสิทธิที่ผู้เสียหายจะไปเเจ้งความกับการยื่นฟ้องศาลโดยตรง ถ้าเป็นคดีอาญาส่วนมากก็จะเป็น 2 ข้อหาหลักคือ พรบ.คอมฯ เเละ ฉ้อโกง เเต่ถ้าเป็นในส่วนคดีคุ้มครองผู้บริโภคก็จะเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องทางเเพ่ง ในส่วนจะเข้าข่าย พรบ.เเชร์ลูกโซ่หรือไม่ ก็ต้องไปสอบสวน ซึ่งลักษณะพิเศษของเเชร์ลูกโซ่ คือหลอกให้คนมาลงทุน เเละให้ชวนคนอื่นมาลงทุนต่อเป็นทอดๆโดยได้รับผลประโยชน์ ซึ่งส่วนมากจะมีเงินเข้ามาช่วงเเรก เเต่เมื่อมันหมุนจนตันเเล้วคนที่หลอกก็จะกอบโกยผลประโยชน์ได้มากที่สุดไปเเล้ว
ในส่วนประเด็นบริษัท จะเข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่ ตนไม่สามารถสรุปได้ต้องไปดูการสอบสวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อยากฝากถึงประชาชนว่า ถ้าต้องการจะลงทุนหรือหารายได้เสริมด้วยการไลฟ์ขายของ โดยการรับจ้างเเล้วไม่มั่นใจว่าสิ่งที่จะทำมันจะกระทบสิทธิหรือไม่ สามารถโทรเข้ามาสายด่วนอัยการ 1157 หรือเข้ามาพบอัยการ สคช.ใกล้บ้าน 120 กว่าสาขา อัยการจะช่วยดูว่ามีข้อกฎหมายอะไรบ้าง เพื่อที่ว่าจะไม่ตกเป็นผู้ต้องหาเเละได้รับจ้างทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย