ย้อนคดีดัง "แชร์แม่ชม้อย" จำคุกนานที่สุดในประวัติศาสตร์
ย้อนคดีดัง "แชร์แม่ชม้อย" จำคุกนานที่สุดในประวัติศาสตร์ พลิกตำนาน แชร์ลูกโซ่ มหากาพย์กลโกงสะเทือนทุกวงการ
ย้อนคดีดัง 42 ปี “แชร์แม่ชม้อย” มหากาพย์กลโกงสะเทือนวงการเศรษฐกิจ จำคุกนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 150,000 ปี
ย้อนไทม์ไลน์ แชร์ลูกโซ่ “แชร์แม่ชม้อย”
ย้อนกลับไปในปี 2525 เมื่อ นางชม้อย ทิพย์โส พนักงานองค์การเชื้อเพลิง ถูกชักชวนลงทุนค้าน้ำมันจากเพื่อนร่วมงาน เมื่อทำได้ระยะเวลาหนึ่งพบว่า ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้เริ่มชักชวนอีกหลายคนมาร่วมลงทุนด้วยกัน
จากการชักชวนนี้ แม่ชม้อยพบว่า การเสนอให้หลายคนมาลงทุน โดยใช้ตัวล่อคือค่าตอบแทนที่สูง สามารถสร้างประโยชน์ให้ตนเองได้ กระบวนการหลอกลวงโลกจึงเกิดขึ้น
แม่ชม้อยตั้งบริษัทเกี่ยวกับการค้าน้ำมัน ในชื่อว่า “บริษัท ปิโตรเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด” เพื่อทำธุรกิจค้าน้ำมัน และธุรกิจเรือเดินทะเล ทั้งในประเทศและนอกประเทศ และได้เริ่มมีการชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนด้วย
จากความน่าเชื่อถือ ทั้งความเป็นพนักงานองค์การเชื้อเพลิง แถมนิสัยส่วนตัวเป็นคนพูดจาดี น่าฟัง ทำให้มีภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือ รวมถึงการเสนอค่าตอบแทนจากบริษัทน้ำมันในราคาที่สูงลิ่ว จึงมีผู้หลงเชื่อหลายรายเข้ามาร่วมลงทุนปลอมๆ นี้
ผู้เข้าร่วม จะต้องนำเงินไปลงทุน เริ่มต้นด้วยการซื้อน้ำมัน 1 คันรถบรรทุก เป็นเงิน 1.6 แสนบาท โดยจะให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือ 10,450 บาทต่อเดือน และร้อยละ 78 ต่อปี แถมมีเงื่อนไข ให้นักลงทุนสามารถเรียกคืนเงินต้นตอนไหนก็ได้ และหากกลับมาลงทุน ก็ยังได้รับผลตอบแทนตามที่ได้การันตีเอาไว้
ด้วยเงื่อนไขการลงทุนที่ง่ายและได้รับผลตอบแทนดี ช่วงแรก แม่ชม้อย จ่ายผลประโยชน์-ดอกเบี้ย ตรงตามนัดหมายทุกเดือนทุกราย ทำให้การลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการชักชวนกันปากต่อปาก จนมีประชาชนหลงเชื่อมาร่วมลงทุนแชร์น้ำมันดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเรียกการลงทุนนี้ว่า “แชร์แม่ชม้อย” ในที่สุด
แม่ชม้อยจะใช้วิธีการ แต่งตั้งหัวหน้าสาย พร้อมให้ผลตอบแทนพิเศษ เพื่อไปชักชวนนักลงทุนรายใหม่ ให้เข้ามาร่วมลงทุน โดยจัดสรรคิวจ่ายให้ผู้ลงทุนรายเก่า ในลักษณะหมุนเวียนกันเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ เหมือนโยกเงินที่ได้จากนักลงทุนรายหลัง มาจ่ายให้แก่นักลงทุนรายก่อนหน้านั่นเอง
เมื่อเงินที่ได้มา ไม่ได้ถูกนำไปลงทุนทำธุรกิจใดๆ แต่เงินกลับถูกใช้ไปเรื่อยๆ ประกอบกับผู้ลงทุนรายใหม่น้อยลง เงินที่ฝากธนาคารก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนตามที่การันตีไว้ได้
จนกระทั่งในปี 2528 แม่ชม้อยไม่สามารถนำเงินมาจ่ายผลตอบแทนได้อีกต่อไป เริ่มมีการปฏิเสธการจ่าย ทั้งผลตอบแทน และเงินต้นแก่นักลงทุน ทำให้มีผู้ลงทุน และตัวแทนแชร์แม่ชม้อย รวมกลุ่มเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน จนนำไปสู่การจับกุมตัวแม่ชม้อยและพวกอีก 7 คน ในวันที่ 18 ก.ค 2528
จำนวนผู้เสียหาย จากแชร์แม่ชม้อย มีกว่า 13,000 คน มูลค่าความเสียหายในขณะนั้น ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และหากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ปรับด้วยเงินเฟ้อ มูลค่าความเสียหายนั้น จะสูงถึง 11,000 ล้านบาท
คดีแชร์แม่ชม้อย เป็นข่าวที่ชาวบ้านให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเวลาเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบค้นทรัพย์สิน ตามพื้นที่ต่างๆ จะเห็นทั้งทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ เครื่องเพชร รวมถึงเงินสดที่ฝังไว้ในหีบจำนวนมาก
เมื่อคดีแชร์แม่ชม้อยถึงชั้นศาล ใช้เวลาในการสืบพยาน 4 ปี จนสุดท้าย ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2532 โดยแม่ชม้อย ถูกตัดสินจำคุกกว่า 150,000 ปี ซึ่งเป็นคดีความที่มีการจำคุกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไป รวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
แม่ชม้อย ชดใช้กรรมอยู่ในทัณฑสถานหญิงเรือนจำลาดยาวเพียง 7 ปีกว่าเท่านั้น เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในฐานะนักโทษชั้นดี และพ้นโทษไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2536 ซึ่งเป็นการพ้นโทษก่อนกำหนดถึง 13 ปี
หลังจากเกิดคดีแชร์แม่ชม้อย จึงมีการจัดตั้ง พ.ร.บ.การเล่นแชร์ ขึ้นเมื่อปี 2534 ทำให้การเล่นแชร์ถูกกฎหมาย โดยระบุห้ามนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ห้ามนายวงแชร์ตั้งวงเกิน 3 วง และจำกัดสมาชิกในวงแชร์ทุกวงไม่เกิน 30 คน รวมจำกัดเงินกองกลางแชร์แต่ละงวดห้ามเกิน 3 แสนบาท
“แชร์ลูกโซ่” อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
แชร์ลูกโซ่ โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นการระดุมทุนจากบุคคลอื่นๆ โดยใช้วิธีจูงใจผู้คนด้วยการให้ผลตอบแทนที่สูง และอ้างว่าจะนำเงินที่ได้มา ไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรสูง และนำผลกำไรมาคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุน
ส่วนสาเหตุที่มีชื่อว่าแชร์ลูกโซ่นั้น เพราะส่วนใหญ่ แม่ข่ายจะหาสมาชิกใหม่ในลักษณะ ชักชวนกันมาลงทุนเป็นทอดๆ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า จนกลายเป็นลูกโซ่ เมื่อใดที่เงินในธุรกิจไม่เพียงพอ หรือหมุนไม่ทัน ก็จะเริ่มเลื่อนการจ่ายผลตอบแทนและหนีไป