ข่าว

มติเอกฉันท์ “ดิไอคอน กรุ๊ป” เป็นแชร์ลูกโซ่ ชง อธิบดีดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ

มติเอกฉันท์ “ดิไอคอน กรุ๊ป” เป็นแชร์ลูกโซ่ ชง อธิบดีดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ

29 ต.ค. 2567

มติเอกฉันท์ คดี “ดิไอคอน กรุ๊ป” เข้าข่ายคดีพิเศษ คณะกรรมการกลั่นกรอง พบพฤติการณ์เข้าองค์ประกอบแชร์ลูกโซ่ ชง อธิบดีดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ

 

29 ต.ค. 2567 ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยหลังประชุมรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานคดี ดิไอคอน กรุ๊ป โดยระบุว่า พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการรับคดีพิเศษ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ว่า คดี ดิไอคอน กรุ๊ป เข้าองค์ประกอบความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ แชร์ลูกโซ่ บ่ายวันนี้ (29 ต.ค.67) จะเสนออธิบดีดีเอสไอ เซ็นรับเป็นคดีพิเศษ

 

ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า จากการพิจารณาแผนประทุษกรรม แผนธุรกิจ งบการเงิน มีลักษณะเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่ โดยหลังมีมติรับเป็นคดีพิเศษ แล้ว ไม่มีการนับหนึ่งใหม่ แต่นับ 9 เลย โดยดีเอสไอ ทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิด และจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกด้านร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ วิเคราะห์เส้นทางการเงิน องค์ประกอบการเสียภาษี การพิสูจน์เจตนา แบ่งเป็นทั้งตัวการหลักและตัวการร่วม หลังการสอบสวนและแจ้งข้อหาเพิ่ม ผัดฟ้องฝากขังจะขยายจาก 4 ฝาก ตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาไว้เป็น 7 ฝาก ซึ่งดีเอสไอมั่นใจทำคดีได้ทันแน่นอน โดยความผิดคดีแชร์ลูกโซ่ จะสอบสวนแยกออกจาก คดี ความผิดฟอกเงิน ที่เป็นคดีพิเศษไปก่อนหน้านี้

สำหรับผู้ต้องหาล็อต 2 รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า เส้นทางการเงินจะบอกเองว่า ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ ใครเป็นตัวการร่วม จะทำแผนวิเคราะห์เส้นเงิน ดูข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป ขณะนี้เริ่มเห็นแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายผู้ต้องหา ยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

มติเอกฉันท์ “ดิไอคอน กรุ๊ป” เป็นแชร์ลูกโซ่ ชง อธิบดีดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ

ผู้สื่อข่าวถามถึงทรัพย์ของกลางที่เป็นเครื่องประดับคล้ายทองคำและนาฬิกาแบรนด์เนม ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นของปลอม รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ไม่ว่าทรัพย์ของกลางจะเป็นของแท้หรือของปลอม ก็เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน กรณีเป็นของแท้ ข้อดีคือ ทำให้ผู้เสียหายได้เฉลี่ยทรัพย์คืนได้มากขึ้น แต่หากเป็นของปลอม ก็ยึดเป็นของกลาง และตั้งข้อสันนิษฐานว่า การสะสมนาฬิกาไม่แท้ อาจมีไว้เพื่อจัดฉากหลอกลวงประชาชน

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก.

ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. กล่าวว่า ในการสอบสวนของตำรวจอย่างเร่งด่วน ช่วง 5 วันแรก ฝ่ายสืบพบพฤติการณ์ที่จะยุ่งเหยิงกับพยานและพยายามหลบหนี จึงจับกุมข้อหาฉ้อโกงประชาชนก่อน เมื่อสอบผู้กล่าวหากว่า 8 พันปาก รวบรวมพยานหลักฐานพยานบุคคล และสอบผู้ต้องหาจึง สรุปได้ว่าเป็น พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ คือ ผู้เสียหายเกิน 300 คน และความเสียหาย 100 ล้านบาทขึ้นไป การส่งสำนวนเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การโยนภาระไปให้ดีเอสไอ โดยเป็นการส่งมอบพยานหลักฐานทั้งหมด ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่