DSI เผย รับ "ดิไอคอน กรุ๊ป" เป็นคดีพิเศษแล้ว แต่ ยังไม่เข้า "แชร์ลูกโซ่"
กรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลง หลังประชุมร่วม ผบ.ตร. เผย รับ "ดิไอคอน กรุ๊ป" เป็น "คดีพิเศษ" แล้ว แต่ ยังไม่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ รอความเห็นเศรษฐกิจการคลัง
30 ต.ค. 2567 เวลา 15.25 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ (หรือกองคดีแชร์ลูกโซ่) และในฐานะโฆษกดีเอสไอ ร่วมแถลงความคืบหน้าล่าสุดของคดี ดิไอคอน กรุ๊ป
หลังจากเมื่อวานที่ผ่านมา (29ต.ค.) เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ร่วมประชุมกับตำรวจสอบสวนกลางเพื่อพิจารณากลั่นกรองว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่
โดยผลการประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้เสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้รับคดีดิไอคอนเป็นคดีพิเศษนั้น
เพ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า จากการที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ส่งเรื่องมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาคดีดิไอคอนกรุ๊ปเป็นคดีพิเศษ ขณะนี้มีคำสั่งอนุมัติรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ
โดยเป็นการรับคดีส่วนของข้อหา ฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในฐานะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีพิเศษคือคดีฟอกเงิน ที่ทางดีเอสไอรับดำเนินการมาก่อนหน้านี้
ส่วนคดีจะเข้าข่าย พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ แชร์ลูกโซ่ และต้องแยกเป็นอีกคดีหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างรอความคิดเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทน รวมถึงวงจรธุรกิจของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปซึ่งตำรวจได้มีการประสานกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนประเด็นที่ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้นายกรัฐมนตรีตั้งพนักงานสอบสวนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเดิมนั้น
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่าก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้รายละเอียดของคดีมาตั้งแต่ต้น
ส่วนความคืบหน้าการแจ้งข้อกล่าวหาการฟอกเงิน พบเส้นทางการเงินที่ชัดเจนและคาดว่าจะสามารถเอาผิดกับกลุ่มผู้ต้องหาได้ โดยจะพยายามเร่งดำเนินการ เพื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติมให้ทันกรอบระยะเวลาในการฝากขังผู้ต้องหา 48 วัน ตอนนี้เหลือ 3 ฝาก 36 วัน
ส่วนกรณีโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ออกมาพาดพิงว่ามีนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับ ดิไอคอนกรุ๊ป พ.ต.ต.ยุทธนา ยืนยันว่าข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคดีพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดอยู่แล้ว รวมทั้งหากมีการประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลมีประโยชน์ ก็จะมีการเรียกเข้ามาให้ปากคำ
พ.ต.ต. ยุทธนา ยังบอกด้วยสำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเพื่อวางกรอบและทิศทางการทำงานของทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น