"บิ๊กต่าย' ลั่น ไม่แทรกแซง รพ.ตำรวจ หลังโดนกดดัน ปมชั้น 14
“บิ๊กต่าย” กำชับ เร่งคลี่คลายคดีสำคัญ ที่ ปชช. ให้ความสนใจ แจง รพ.ตำรวจ ไม่ต้องขอความเห็น ปม เวชระเบียน ทักษิณ ชั้น14 หลัง ป.ป.ช. ร้องขอ ลัั่น ไม่แทรกแซงการทำงาน
10 พ.ย. 2567 แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อช่วง ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยผบ.ตร.กำชับตำรวจทุกนายว่า ต้องให้บริการประชาชนทุกคนอย่างเป็นธรรมและรักษากฎหมาย ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องเร่งรัดและตั้งใจทำงานในคดีต่างๆ ที่สังคมให้ความสนใจในช่วงนี้อย่างรวดเร็ว
เช่น คดีป๋าเบียร์และแม่ตั๊ก กรณีฉ้อโกงประชาชนในการหลอกขายทองคำ คดีดิ ไอคอนกรุ๊ป ที่มีการฉ้อโกงประชาชน คดีนางศิรินัดดา หักพาล ถูกแจ้งความว่าลักทรัพย์และบุกรุกคอนโดมิเนียมของ น.ส.ธณัฎฐา ยอดเยี่ยม (หนิง) และนายตำรวจยศ พ.ต.อ. ซึ่งต่อมานางศิรินัดดา แจ้งความกลับว่านางธนัฏฐาและสามีแจ้งความเท็จ รวมถึงคดีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด คดีตำรวจ6นาย ร่วมกันอุ้มและรีดทรัพย์ชาวจีน คดีบ่อนและพนันออนไลน์ คดีทุนจีนสีเทา คดีหลอกลวงประชาชนทางสังคมออนไลน์ การจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่จำนวนมากและคดีอื่นๆที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
เนื่องจาก ผบ.ตร.ให้นโยบายกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ทุกคดีที่เกิดขึ้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงที่ดีและกอบกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจให้สังคมเชื่อมั่นอีกครั้ง หากตำรวจรายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ผบ.ตร.เน้นว่าต้องดำเนินคดีถึงที่สุดอย่างเด็ดขาดทุกราย
แหล่งข่าว เปิดเผยอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำเรื่องขอเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่รับโทษ จากโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น14 ไปถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับนั้น
ทางพล.ต.อ. กิตติ์รัฐ บอกสื่อมวลชนไปแล้วว่าทราบเรื่องดังกล่าวแล้วว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระติดต่อขอข้อมูลการรักษาตัวของนายทักษิณ จากโรงพยาบาลตำรวจ
แต่ในส่วนของการบริหารราชการ ถึงแม้พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ จะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจที่จะต้องพิจารณาคำร้องขอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ อย่างไร
เพราะ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ยืนยันว่า ประเด็นนี้โรงพยาบาลตำรวจไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจาก ผบ.ตร. ส่วนเรื่องดังกล่าวจะมีนัยอะไรหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่กำชับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้น แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า ตอนนี้ฝ่ายการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม และพยายามกดดัน ผบ.ตร.ว่า ต้องสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจส่งข้อมูลของนายทักษิณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ หาก ผบ.ตร.ไม่กระทำ อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 นั้น
หากพิจารณาสิ่งที่ ผบ.ตร.กล่าวกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขอชี้แจงว่า กรณีของนายทักษิณนั้น ผบ.ตร. จะไม่แทรกแซงการทำงาน การพิจารณาและการตัดสินใจของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ที่ต้องพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่ขอให้ไล่เรียงไทม์ไลน์กรณีนี้ด้วยว่า นายทักษิณ กลับประเทศและไปรายงานตัวต่อศาลและเข้าเรือนจำในวันที่ 22 ส.ค.66 และรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน
โดยช่วงนั้นผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อดีต ผบ.ตร. และพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้รับการแบ่งงานจากพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ให้กำกับดูแลหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.),ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มอบให้พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม
“หากพิจารณาไทม์ไลน์อย่างเป็นธรรมจะพบว่า การรับผิดชอบหน้าที่ของพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ในช่วงที่เป็น รอง ผบ.ตร. กับกรณีนายทักษิณที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น จะพบว่าในช่วงนั้นพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลตำรวจเลย
แต่กระแสกดดันจากหลายฝ่ายในตอนนี้พยายามโยงว่า ผบ.ตร. อาจไม่ร่วมมือในการให้ข้อมูลของนายทักษิณและอาจมีความผิดไปด้วยนั้น ต้องพิจารณาข้อกฎหมายและเคารพการพิจารณาของคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจในกรณีนี้ด้วย
หากบางฝ่ายระบุว่า ผบ.ตร. มีอำนาจสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจดำเนินการในเรื่องนี้ได้นั้น ควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่มอบให้ ผบ.ตร.รับผิดชอบด้วยว่ากระทำหรือไม่กระทำอะไรได้บ้าง ยืนยันว่า แม้วันนี้ ผบ.ตร.มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ ผบ.ตร.ก็ต้องเคารพกฎหมายเหมือนประชาชนทุกคน ดังนั้น ผบ.ตร.จะกระทำในสิ่งนอกเหนือกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไม่ได้” แหล่งข่าวระบุ