ปานเทพ งัดหลักฐานซัด ทนายตั้ม ปม 71 ล้าน ชำแหละ ได้มาเพราะเสน่หาหรือล่อลวง
"ปานเทพ" งัดหลักฐานโชว์กลางรายการดัง ยัน เงิน 71 ล้าน ทนายตั้มไม่ได้จาก "เจ๊อ้อย" โดย "เสน่หา" ตามอ้าง ชี้จุดพิรุธ เป็นไปไม่ได้ เมียไม่รู้เรื่อง
13 พ.ย. 2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยเรื่องราว ของ "ทนายตั้ม-เจ๊อ้อย" ปมเงิน 71 ล้าน ซึ่งทางด้านของ "ทนายตั้ม" ได้กล่าวเอาไว้ว่า เป็นเงินที่ได้มาจาก "ความเสน่หา" และเป็นเงินที่กู้ยืมมาเพื่อการลงทุน และนอกจากนี้ยังมีอีก 4 คดี ที่เกี่ยวกับ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ "อ้อย" แจ้งความดำเนินคดีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม
ไม่ใช่เงินกู้ยืม และ เสน่หา
นายปานเทพ ได้เปิดเผยหลักฐานว่า เงินจำนวน 71 ล้านบาท ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา หรือการให้ยืมเพื่อการลงทุน ซึ่ง ทางฝ่ายทนายตั้มได้อ้างว่ามีแชทเป็นหลักฐานว่า "พี่อ้อย" ได้ให้เงินทนายตั้มมาลงทุน แต่นายปานเทพได้โต้แย้งว่า ในความเป็นจริงแชทดังกล่าวเป็นการพูดคุยระหว่างทนายตั้มกับ "พี่น้อย" ซึ่งเป็นเลขาฯ ของ "พี่อ้อย" โดยทนายตั้มได้ร้องขอให้ "พี่น้อย" ไปเจรจากับ "พี่อ้อย" อีกขั้นหนึ่ง แสดงว่า "พี่อ้อย" ยังไม่เห็นด้วย
นอกาจากนี้ นายปานเทพ ยังได้บอกอีกว่า แชทดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28, 29 และ 30 มกราคม 2566 แต่หลังจากนั้น "พี่อ้อย" ได้ตกลงตามนั้นหรือไม่ และหากเป็นการให้กู้ยืมตามที่อ้าง ทนายตั้มในฐานะเป็นทนายความที่รู้กฎหมายจะต้องทำสัญญากู้ยืมให้ชัดเจน แต่กลับไม่ทำสัญญากู้ แสดงว่าไม่ใช่การกู้ยืม
รวมทั้งถ้าบอกว่าเป็นการลงทุนก็ต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนหุ้นส่วน โดยที่อ้างว่าเป็นการลงทุนนั้น ตามแชทระบุว่าจะลงทุนทำแอปพลิเคชั่นหวยออนไลน์ โดยทนายตั้มอวดอ้างว่าตนเองมีเส้นสายรับทำสัมปทานหวยออนไลน์ได้.
เงิน 71 ล้าน ลงทุนทำแอปพลิเคชันหวย
นายปานเทพกล่าวอีกว่า หลังจากมีแชทดังกล่าวแล้ว "พี่อ้อย" ได้เดินทางจากฝรั่งเศสมาไทย ช่วงวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเซ็นสัญญากับบริษัทำแอปพลิเคชั่นหวยออนไลน์ โดยในรายการ นายปานเทพได้เปิดเผยภาพของสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัททำแอปพลิเคชั่น กับ "พี่อ้อย" ในฐานะผู้ว่าจ้าง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 แต่เซ็นจริงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแสดงว่าทรัพย์สินนี้เป็นของ "พี่อ้อย" ไม่ใช่ของทนายตั้ม และเงินลงทุนก็เป็นของพี่อ้อย ไม่ใช่ของทนายตั้ม ดังนั้นที่บอกว่าเป็นการให้ทนายตั้มกู้ยืมเงินเพื่อมาลงจึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น
นายปานเทพกล่าวย้ำว่า ข้อสำคัญสัญญานี้ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยสำนักงานทนายความษิทรา ลอว์เฟิร์ม ของทนายตั้มเอง รวมทั้งตามสัญญาดังกล่าวระบุด้วยว่า "พี่อ้อย" ตกลงว่าจ้างในราคา 2 ล้านยูโร ตรงตามจำนวนเงินที่โอนให้ทนายตั้ม และไม่ใช่สัญญาที่ทำให้มาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการโอนเงินจากต่างประเทศตามที่ฝ่ายทนายตั้มอ้าง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินของพี่อ้อยเองสามารถโอนเงินมาประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีได้ จ่ายเพียงแค่ค่าธรรมเนียม ที่ผ่านมา "พี่อ้อย" ก็เคยโอนเงินมาไทยหลายครั้งโดยไม่ต้องเสียภาษี บางครั้งโอนถึง 3 ล้านยูโร
ทั้งนี้ "พี่อ้อย" โอนเงิน 2 ล้านยูโร ให้ทนายตั้ม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เพราะทนายตั้มอ้างว่าเขาจะเป็นคนดำเนินการ เป็นคนติดต่อบริษัททำแอปฯ และติดต่อพี่อ้อย โดยไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันโดยตรง ซึ่งฝ่ายพี่อ้อยหลงเชื่อว่าจะมีการเดินหน้าทำสลากออนไลน์ จึงโอนเงินให้
"กรณีแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการกู้ยืมเงินได้หรือเปล่า ถือว่าเป็นให้โดยเสน่หาได้หรือไม่ หรือจะเรียกว่าล่อลวงตั้งแต่แรก เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเป็นของตัวเอง เพราะอ้างในไลน์ตลอดว่าทำสลากออนไลน์ แต่ได้เงินมาเสร็จ หลังจากนั้นถอนเงินไปซื้อบ้าน ด้วยเงินสด แล้วมันจะสลากออนไลน์ตรงไหน ลงทุนตรงไหน แสดงว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกพี่อ้อย"
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นเมื่อบริษัทำแอปฯ ไม่ได้เงิน ก็มีการทวงถาม ทนายตั้มก็บอกว่า "พี่อ้อย" ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง "พี่อ้อย" ยังไม่ได้ยกเลิก แต่เมื่อบริษัทไม่รู้ว่ามีการจ่ายเงินมาแล้วก็เลยยุติสัญญา นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมถึงไม่ได้ทำหวยออนไลน์
ชุบเงินเป็นบ้าน
นายปานเทพเปิดเผยอีกว่า หลังจากทนายตั้มได้เงินก้อนนี้แล้ว วันที่ 22 มีนาคม 2566 ก็เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อบ้านราคา 43 ล้านบาทที่ขณะนี้ถูกอายัดแล้ว โดยเปลี่ยนสัญญาจากการซื้อผ่อนเป็นการซื้อด้วยเงินสด หลังจากได้เงินจาก "พี่อ้อย" มา ซึ่งถ้าทำกันถึงขนาดนี้จะถือว่าเป็นการให้เงินมาลงทุนหรือให้โดยเสน่หาได้หรือไม่
นายปานเทพ กล่าวว่า หลังจากทนายตั้มได้รับเงินไปแล้ว จนใกล้ปลายปี 2566 ทนายตั้มก็เริ่มคิดเรื่องภาษีจากเงิน 71 ล้านบาท จึงเจรจากับบริษัทผู้ผลิตแอปฯ ว่า ขอเอาเงินผ่านเงินสัก 70 ล้านบาทได้ไหม แต่ไม่มีความคืบหน้า จนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ใกล้ถึงรอบวงจ่ายภาษี ทนายตั้มเสนอว่าจะเอาเงินผ่านโดยไม่บอกว่าเป็นสัญญาเดิม แบ้งเป็น 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง 30 ล้านบาท ครั้งที่สอง 30 ล้านบาท และครั้งที่สาม 11 ล้านบาท และจะให้ค่าตอบแทน 10 ล้านบาท บริษัทผู้ผลิตแอปฯ เห็นว่ายอดใกล้ 71 ล้านบาท สงสัยจะฟอกเงิน จึงปฎิเสธไป ซึ่งมีหลักฐานเป็นบทสนทนา
นอกจากนั้น ทนายตั้มได้พยายามหาทางออกให้ตัวเอง ด้วยการอ้างว่าตนเองได้ว่าจ้างให้อีกบริษัททำแพลตฟอร์มหวยออนไลน์อีกตัวชื่อนาคี เหมือนกับแอปฯ ของบริษัทเดิมแต่มีโลโก้สีเขียว และบอกให้บริษัทนี้ส่งแอปฯ นาคีสีเขียวให้ "พี่อ้อย" แต่บริษัทปฏิเสธเพราะเป็นแอปฯ ของบริษัทอื่น ถ้าส่งให้พี่อ้อยก็เท่ากับหลอกพี่อ้อย จึงไม่ทำตาม
เป็นไปไม่ได้ เมียทนายตั้ม ไม่รู้เรื่อเงิน 71 ล้าน
ส่วนกรณีฝ่ายทนายตั้มพยายามอ้างว่านางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาของทนายตั้มไม่รู้เรื่องของเงิน 71 ล้านบาท เป็นแค่คนรับเงินมาซื้อบ้าน ไม่รู้ที่ไปที่มา เพื่อที่จะยื่นขอประกันตัวนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่จริง เพราะตำรวจรู้แล้วว่ามีข้อมูลการใช้โทรศัพท์ และแชทไลน์ทั้งหมด นางปทิตตาอยู่ในคณะทำงานเรื่องหวยออนไลน์และรับทราบโดยตลอด