ข่าว

ชาวบ้าน ร้องผู้ตรวจฯ "เกาะเต่า" ถูกขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย

ชาวบ้าน ร้องผู้ตรวจฯ "เกาะเต่า" ถูกขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย

19 พ.ย. 2567

ชาวเกาะเต่า ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมกรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย 15,000 ไร่ จากที่กรมราชทัณฑ์ส่งมอบเพียง 25 ไร่

19 พ.ย. 2567 ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมนายกิตติศักดิ์ บุญชัย และราษฎร์ชาวเกาะเต่า กว่า 20 คน ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของราษฎรชาวเกาะเต่า กรณีกรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย และส่งประเด็นข้อกฎหมายที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ  
 
หลังกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังขึ้นทะเบียนเกาะเต่าเป็นที่ราชพัสดุทั้งเกาะจำนวน 15,000 ไร่  หรือประมาณ 21 ตารางกิโลเมตร โดยมิชอบ ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเนื่องจาก ก่อนปี 2480 ราษฎรได้เข้ามาจับจองครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยบริเวณเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทำสวนมะพร้าว ที่บริเวณแม่หาด และบริเวณหาดทรายรี บริเวณโฉลกบ้านเก่า ต่อมาประมาณปี 2485 กรมราชทัณฑ์ได้มีการก่อสร้างเรือนจำ ซึ่งเป็นเรือนจำปิด มีรั้วรอบขอบชิด ประมาณ 25 ไร่ ในปี 2486 ได้มีการย้ายนักโทษการเมือง กบฏบวรเดช จำนวน 54 คน จากเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล มาอยู่ที่เกาะเต่า จนถึงปี พ.ศ.2487 ประมาณปีเศษ และได้มีการอภัยโทษ และปล่อยตัวไป เรือนจำดังกล่าวก็ถูกทิ้งร้าง ต่อมา ในปี 2490 กระทรวงการคลังได้ประมูลขายสิ่งปลูกสร้างเรือนจำ ในส่วนของราษฎรก็ยังคงครอบครองทำประโยชน์บนพื้นที่เกาะเต่า มีการทำสวน ทำไร่ ทำสวนมะพร้าว ทั่วบริเวณเกาะ

ชาวบ้าน ร้องผู้ตรวจฯ \"เกาะเต่า\" ถูกขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2497 ประมวลกฎหมายที่ดินเริ่มใช้บังคับและให้ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไปขึ้นทะเบียนสิทธิครอบครองที่ดิน ตามแบบแจ้งการครอบครอง(ส.ค.1) ภายใน 180 วัน แต่ไม่สามารถแจ้งสิทธิการครอบครองได้ เพราะนายครรชิต พัฒนศรี สรรพากรอำเภอเกาะสมุย ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังได้แจ้งการครอบครองที่ดินบริเวณเกาะเต่า ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2498 ทั้งเกาะ เนื้อที่ 15,000 ไร่ เกินกว่า 25 ไร่ ที่กรมราชทัณฑ์ครอบครองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้ราษฎรไม่สามารถแจ้งสิทธิครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินบริเวณเกาะเต่าทั้งแปลงเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนโดยความผิดพลาดคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ราษฎรยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่วต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน 

 

เป็นเหตุให้ราษฎรเกาะเต่าได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการขึ้นทะเบียนของกรมธนารักษ์ การขึ้นทะเบียนดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกรมธนารักษ์กับราษฎรชาวเกาะเต่ามายาวนานจนถึงปัจจุบันยังหาข้อยุติไม่ได้    
 

  • จากข้อพิพาทดังกล่าว ราษฎรชาวเกาะเต่ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐหลายครั้ง ดังนี้ 

1. ในปี 2529 ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ขอออกเอกสารสิทธิหรือ น.ส.3 ของที่ดินเกาะเต่า และเกาะห่างเต่า  
2. ในปี 2546 ได้ร้องเรียนผ่านสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับราษฎร โดยมีข้อสรุปว่า ที่ราชพัสดุแปลงเกาะเต่านั้นมีเพียงพื้นที่ที่เป็นเรือนจำโดยสภาพเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นประมาณการว่ามีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่เศษ นอกเหนือจากนั้นกรมธนารักษ์ควรคืนให้แก่ราษฎร 
3. ในปี 2561 ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อแม่ทัพภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 4755/2561 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินแปลงเกาะเต่าเพื่อหาข้อเท็จจริงที่ดินราชพัสดุแปลงเกาะเต่า โดยมีพลตรีเกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 4 เป็นประธานคณะทำงาน 
4. ในปี 2562 ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องราษฎรตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะ     พะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้องเรียนข้อความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิที่ดินและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมและใบอนุญาตเกี่ยวกับอาคาร  
5. ในปี 2565 ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานเทศบาลตำบลเกาะเต่าได้ติดตามเรื่องดังกล่าว โดยออกหนังสือสำนักงานเทศบาลตำบลเกาะเต่า ที่ สฎ 7560/302 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ถึงผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 /หัวหน้าคณะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 เรื่อง ขอความเป็นธรรมอนุเคราะห์ตรวจสอบกรณีธนารักษ์พื้นที่ออกเอกสารสิทธิ์ครอบทั้งเกาะกระทบสิทธิ์ที่ดินของราษฎรตำบลเกาะเต่า 

 

  • จากการที่ราษฎรยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและลงพื้นที่เกาะเต่าเพื่อสอบข้อเท็จจริง  ได้ความตรงกันว่า  

1. เกาะเต่าไม่เป็นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย 
2. การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงเกาะเต่าไม่ถูกต้อง  
3. การแจ้งสิทธิการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) ของนายครรชิต พัฒนศรี สรรพากรอำเภอเกาะสมุย ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2498 ที่ระบุว่ามีการใช้ประโยชน์จดทะเลทั้ง 4 ด้าน หรือทั้งเกาะ จำนวน 15,000 ไร่ เป็นการแจ้งสิทธิการครอบครองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรมราชทัณฑ์ได้ใช้ประโยชน์เพียง 25 ไร่ ส่วนที่แจ้งการครอบครองเกิน 14,975 ไร่ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  
4. การแจ้งการครอบครองที่ดินแปลงเกาะเต่า (ส.ค.1) ของกระทรวงการคลัง ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ต่อกระทรวงการคลังและถือเป็นการกระทำที่ปิดกั้นโอกาสการใช้สิทธิ์ของราษฎร
5. กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เกาะเต่าทั้งเกาะเป็นที่กักขังนักโทษ ใช้เฉพาะพื้นที่เรือนจำบริเวณแม่หาด ประมาณ 25 ไร่เศษ 
6. ราษฎรมีการถือครองและใช้ทำประโยชน์ที่ดินเกาะเต่ามาโดยตลอด โดยพิจารณาจากผลการตรวจพิสูจน์อายุพืชผลอาสิน เช่น ต้นมะพร้าวในพื้นที่เกาะเต่า ซึ่งมีอายุการปลูกตั้งแต่ปี 2477 ถึง 2495 ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะปลูกสร้างเรือนจำในปี 2485-2487  และสอบปากคำราษฏรผู้สูงอายุและทายาท จำนวน 47 ราย 
 

ชาวบ้าน ร้องผู้ตรวจฯ \"เกาะเต่า\" ถูกขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย


จากการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานดังกล่าวฟังได้ว่า กรมราชทัณฑ์ใช้พื้นที่เพียง 25 ไร่ เท่านั้น ต่อมากรมราชทัณฑ์ส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์ ควรส่งเพียง 25 ไร่ ไม่ใช่ 14,975 ไร่ ที่ราษฎรเกาะเต่าครอบครองอยู่ การที่กรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและแจ้งแบบการครอบครอง(ส.ค.1) ทั้งเกาะ หรือจำนวน 15,000 ไร่  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานดังกล่าว จึงแจ้งให้กรมธนารักษ์เพิกถอน ส่วนที่มีการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและแบบการครอบครอง(ส.ค.1) ทั้งเกาะ หรือจำนวน 15,000 ไร่  แต่กรมธนารักษ์ก็เพิกเฉยจนถึงปัจจุบัน และมีข้อพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
  

ต่อมาราษฎรเกาะเต่า จึงได้ฟ้องกรมธนารักษ์ เป็นคดีศาลปกครองนครศรีธรรมราช จำนวน 2 คดี  คือ หมายเลขดำที่ 129/2567 ฯ และคดีหมายเลขดำที่ 279/2567 ฯ  เพื่อให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนที่ราชพัสดุและแบบการครอบครอง(ส.ค.๑) ทั้งเกาะ จำนวน 15,000 ไร่ โดยเป็นของกรมธนารักษ์เพียง 25 ไร่เศษ  เพื่อราษฎรชาวเกาะเต่าจะได้มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินที่ตนครอบครอง  แต่เนื่องจากตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 59 ทวิ ได้บัญญัติให้ผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ของที่ดินและไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5  สามารถออกโฉนดที่ดินได้  ซึ่งออกโดยสภาผู้แทนราษฎร  แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ2537) ข้อ 14 “ที่ดินจะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังต่อไปนี้ ........ (3) ที่เกาะ แต่ไม่รวมถึงที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว”  ซึ่งการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 43  (พ.ศ2537) ข้อ 14(3)
1. เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนบนเกาะมิให้ขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 59 ทวิ จึงเป็นการปิดโอกาสที่มีอยู่เพียงน้อยนิดของประชาชนมิให้ได้มีโอกาสพิสูจน์สิทธิตามกฎหมายเหมือนเช่นผู้ครอบครองที่ดินทั่วไปที่มิใช่ที่เกาะ 
2. เป็นการขัดต่อ ประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งตามมาตรา 59 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 
3. เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และ 27 และตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 420/2550  
 
ดังนั้น  ในวันนี้จึงมายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน  โดยให้ใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 230 เสนอเรื่องไปยังศาลปกครองกลางตามมาตรา 231 เพื่อให้ยื่นเสนอข้อกฎหมายดังกล่าวว่าขัดหรือแย้ง ในการบังคับใช้ที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมว่ามาตรการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. 2537) ข้อ 14(3) เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ซึ่งเดิมรัฐยังให้การรับรองสิทธิของผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน (พ.ศ.2497)แต่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ภายหลังมีการตรากฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ข้อ 14 (3) จึงเป็นกรณีที่กฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 มาตรา 26 และ 27 หรือไม่อย่างไร ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองกลางหรือศาลปกครองสูงสุด โดยแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ข้อ 14 ในส่วนที่มีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือได้สิทธิครอบครองก่อน พ.ศ.2497 แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวก็ตาม เพื่อให้ราษฎรเกาะเต่ามีสิทธิออกโฉนดที่ดิน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม เพื่อให้ราษฎรเกาะเต่าได้รับความเป็นธรรมและบรรเทา เยียวยา ความเดือดร้อนเสียหายที่ราษฎรเกาะเต่าได้รับมาอย่างยาวนาน

 

ชาวบ้าน ร้องผู้ตรวจฯ \"เกาะเต่า\" ถูกขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย

ชาวบ้าน ร้องผู้ตรวจฯ \"เกาะเต่า\" ถูกขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมิชอบด้วยกฎหมาย