ยธ. เผย "ทวี-อธิบดีกรมคุก" ไม่ยืนยันเข้าชี้แจงปม "ทักษิณ" นอน รพ.ตร.
ที่ปรึกษา รมว.ยธ. แถลง 3 เหตุผล กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจเชิญชี้แจงปม "ทักษิณ" นอนรักษาตัวรพ.ตร. ยังไม่ยืนยัน "ทวี-อธิบดีกรมคุก" เข้าพบหรือไม่
21 พ.ย. 2567 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายณรงค์ หนูคง ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ , นายวรชัย บุตรดาบุตร เลขานุการกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผอ.กองกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมต้องการสื่อสารทำความเข้าใจและมีหน้าที่รับผิดชอบให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือเชิญให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ถูกส่งรักษาอาการป่วยโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ซึ่งอยู่ระหว่างต้องโทษ
โดยที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และ กมธ.ตำรวจ ได้มีหนังสือขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งข้อเท็จจริง ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2566 โดยมี นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะ ไปชี้แจง ส่วนครั้งที่สอง กมธ.ตำรวจ ได้มีการนัดหมายให้ไปดูสถานที่จริง คือ ในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว
ต่อมา กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มีหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้อง ส่งมอบเอกสารเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 โดยมี นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เดินทางไปชี้แจงแล้ว
จากนั้น กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้มีหนังสือเชิญระบุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปชี้แจงอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ย.นี้ โดยเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมไม่มีความสบายใจและอยากให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่เมื่อพิจารณาตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญและอำนาจหน้าที่ข้อบังคับสภาผู้แทนฯ ระเบียบการประชุม เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจในการตรวจสอบของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ชุดดังกล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า กรมราชทัณฑ์ พิจารณาสรุปมี 3 เรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของ กมธ.ความมั่นคงฯ คือ
1.ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 วรรค 2 การสอบหาข้อเท็จจริงต้องเป็นเรื่องในอำนาจหน้าที่ระบุไว้ในการตั้ง กมธ. ของแต่ละชุด และหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯฯ ชุดดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ การค้าชายแดน จุดผ่านแดน ฯลฯ และผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ
2.การดำเนินการตรวจสอบดังกล่าวเป็นการทำงานซับซ้อนกับ กมธ.ตำรวจ ที่มีการเชิญกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจงแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 (2) กรณีดังกล่าวต้องให้มีคณะกรรมการร่วมกันดำเนินการเป็นเรื่องเดียวกันและคณะทำงานเดียวกัน ซึ่งเป็นตามข้อบังคับและระเบียบการประชุม
3.ปัจจุบันมีองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริง ขอเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ , สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ทำความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งหน่วยงานองค์กรอิสระดำเนินการพิจารณาอยู่แล้ว
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ มีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนฯ และ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ส่วนกำหนดประชุมวันที่ 22 พ.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังมีความกังวลว่า กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ทำถูกต้องข้อบังคับหรือไม่ และยังไม่ให้คำตอบว่าจะเดินทางไปหรือไม่ รวมทั้ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย
เมื่อถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจจะไม่เดินทางไป จึงใช้บทกฎหมายมาเป็นข้ออ้างหรือไม่ เพื่อปกปิดข้อมูล นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ป.ป.ช. มีการตรวจสอบอยู่แล้ว มีการเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแล้ว จึงไม่สามารถปกปิดอะไรได้ และหลายหน่วยงานที่ตรวจสอบก็มีเอกสารครบถ้วนพอสมควร ดังนั้นส่วนตัวเชื่อว่าปกปิดไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไร สั่งการอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์จึงได้มีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ แต่สุดท้ายแล้วต้องเป็นประธานสภาผู้แทนฯ เป็นคนพิจารณาเรียกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าว
"ส่วนครั้งแรกมีเพียงตัวแทนเข้าชี้แจง จึงอาจเป็นประเด็นให้ผู้บริหารเข้ามาเองก็สามารถทำได้และติดตรงข้อบังคับไม่ใช่อำนาจหน้าที่ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ จึงส่งหนังสือให้ประธานสภาผู้แทนฯ พิจารณาว่าเป็นอำนาจหน้าที่ กมธ.ชุดดังกล่าว ก็จบ หากเรียกก็ต้องไป"
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับกรณี นายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ก็คงกลัวเพราะถูกตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็พร้อมชี้แจง ส่วนที่ขอเอกสารจากกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ไม่เคยได้นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ กมธ. สามารถสอบถามระดับผู้บังคับบัญชาอีกครั้งได้ ส่วนที่มองว่าอาจเอื้อประโยชน์ นายทักษิณ หรือไม่นั้น ตนมองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว จากนี้เป็นเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ส่วนค่ารักษาของ นายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 สูงถึงหลักล้านบาทนั้น นายสมบูรณ์ ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้เพราะได้รับมอบหมายเพียงการชี้แจงเรื่อง กมธ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น นอกจากนี้ ทราบว่าตัวแทนทางโรงพยาบาลตำรวจมีรายชื่อเชิญไปเช่นกันแต่ตนไม่ทราบรายละเอียด