ข่าว

ศาลไม่ให้ประกัน “สามารถ” ส่วนแม่ ได้ประกันตัว

ศาลไม่ให้ประกัน “สามารถ” ส่วนแม่ ได้ประกันตัว

26 พ.ย. 2567

“สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” วืดประกัน ศาลให้ประกันแม่คนเดียว หลังพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ยื่นคำร้องฝากขัง คดีร่วมกันฟอกเงิน โยงดิไอคอนกรุ๊ป

26 พ.ย. 2567  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสืบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัว นางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ อายุ 62 ปี  และ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อายุ 41 ปี  ผู้ต้องหาที่ 1-2 ในคดี ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5(1),(3) มาตรา 9 และมาตรา 60 โดยนางวิลาวัลย์ เป็นแม่นายสามารถ

 

โดยพฤติการณ์ ตามคำร้องระบุว่า กรณีกล่าวหา บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด นายวรัตน์พล วรัทย์กุล หรือ บอสพอล กับพวก รวม 19 ราย มีพฤติการณ์ร่วมกันหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายด้วยการเปิดรับสมัครให้เข้ารับการอบรมขายสินค้าออนไลน์ โดยหลอกว่าจะสอนวิธีการขายของออนไลน์ และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม มีกลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าอบรม บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวกจะแนะนำชักจูงให้ผู้กล่าวหา กับพวกร่วมลงทุนซื้อสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปจำหน่าย โดยทำให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

เมื่อลงทุนซื้อสินค้าไปแล้วทางบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก จะเริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนตามแผนการลงทุนที่บริษัทจัดทำขึ้น และอ้างกับผู้เสียหายว่าสามารถ ทำรายได้เป็นจำนวนมากจากการขายสินค้าออนไลน์

 

นอกจากนี้ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ได้เผยแพร่แผนประกอบธุรกิจการจ่ายค่าตอบแทนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และมีจุดประสงค์มุ่งเน้นการหาผลประโยชน์ตอบแทนจากการชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครเป็นสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า และบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวกอ้างว่าตนเองได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนในระบบขายตรง แต่ความเป็นจริงทางบริษัทกับพวก ไม่ได้รับอนุญาตตามที่อ้าง ซึ่งเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง หรือแสดงข้อความเป็นเท็จ และกลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อโฆษณาหรือเชิญชวนผู้เสียหายมาร่วมลงทุนกับบริษัท เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูง แต่ทางบริษัทกับพวก ไม่มีการนำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหายไปประกอบตามที่กล่าวอ้างไว้กับผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้บริหารและเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ว่าร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันทุจริตในการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง โดยตกลงว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมเครือข่ายซึ่งคำนวนจากจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขื้น

 

จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า มีการโอนเงินจากชื่อบัญชี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และบัญชีเงินฝากของนายวรัตน์พล วรัทย์กุล และต่อมามีข้อเท็จจริงว่าได้โอนเงินไปยังบัญชีของนางวิลาวัลย์ ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 15 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2,589,999 บาท และมีการโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 จำนวน 14 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 475,000 บาท อย่างไรก็ตามมูลนิธิทนายประชาชนฯ ได้ส่งหนังสือขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายสามารถ พร้อมกับส่งคลิปเสียงจำนวน 2 คลิป ซึ่งเป็นไฟล์เสียงสนทนาระหว่างนายวรัตน์พลและนายสามารถ

 

เมื่อพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคาร และธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง พบข้อมูลบัญชีเงินฝาก ของนางวิลาวัลย์ มีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วง วันที่ 1 ม.ค. 2561 - 28 ต.ค. 2567 พบว่ามีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีหลักร้อยล้านบาท โดยเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีอื่นจำนวน 103,813,577.04 บาท และรับโอนเงินจากบัญชีอื่น จำนวน 88,894,306.46 บาท ซึ่งตรวจสอบการโอนเงินเข้าบัญชีของนายสามารถ 5 บัญชี พบยอดเงินในบัญชีมากกว่า 14 ล้านบาท มีการโอนเงินจากนายวรัตน์พล จำนวน 2.5 ล้านบาท และ มีการรับโอนเงินจากผู้ต้องหารายอื่น เป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน

 

ศาลไม่ให้ประกัน “สามารถ” ส่วนแม่ ได้ประกันตัว

 

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของนางวิลาวัลย์ ไปยังบัญชีเงินฝากของนายสามารถ เป็นเงินรวมกว่า 34 ล้านบาท เมื่อปรากฏธุรกรรมการโอนเงินหมุนเวียนจำนวนหลักร้อยล้านบาท ของนางวิลาวัลย์ แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลการยื่นแบบแสดงการเสียภาษีของกรมสรรพากรแต่อย่างใด การกระทำของนายวรัตน์พล นางวิลาวัลย์ และนายสามารถ จึงเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการรับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มา หรือเพื่อช่วยผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำผิด ไม่ให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง

 

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-2 เป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

 

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

 

โดยพนักงานสอบสวนยังทำสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 30 ปาก รอผลพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2

 

เจ้าหน้าที่สอบสวน จำเป็นต้องขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ไว้ระหว่างการสอบสวนมีกำหนด 12 วัน นับตังแต่วันที่ 26 พ.ย. - 7 ธ.ค.  67

 

ทั้งนี้โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นบุคคลตามหมายจับ มีการกระทำที่ลักษณะเป็นเครือข่ายและบุคคลทั้ง 3 รายเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกัน และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานฟอกเงิน โดยนายสามารถฯ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นบุคคลที่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นบุคคลกว้างขวางมีความใกล้ชิดกับบุคคล ที่มีอำนาจ และมีศักยภาพทางการเงินสูง จึงเชื่อว่าปล่อยตัวผู้ต้องหาไปจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

 

อีกทั้งพบว่า ภายหลังจากมีคลิปเผยแพร่การสนทนาระหว่างนายวรัตน์พล ผู้ต้องหาตามหมายจับ และนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 เรื่องการเรียกรับเงิน กรณี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด หลังจากนั้นทนายของผู้ต้องหา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับกรณีการเรียกรับเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่างนายวรัตน์พล ผู้ต้องหาที่1 ก่อนจะโอนไปยังผู้ต้องหาที่ 2 ว่าเป็นเงินฝากทำบุญและการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นการเตรียมการให้การเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี

 

และผลจากการตรวจค้น บ้านพักอาศัยของผู้ต้องหาที่ 2 มีการจัดเตรียมพยานหลักฐานชี้แจงแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อันอาจสร้างความสับสนหลงประเด็น ต่อการรวบรวมพยานหลักฐาน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา 1-2 อาจจะพากันหลบหนีได้

 

ศาลอาญาพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขัง

 

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ทีมทนายความของนายสามารถ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเตรียมหลักทรัพย์มูลค่า 1.2ล้านบาท เพื่อยื่นประกันตัว ผู้ต้องหาที่ 1-2

 

ต่อมา มีรายงานว่า ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว นางวิลาวัลย์ ส่วน นายสามารถ ศาลไม่ให้ประกันตัว