ข่าว

เปิดยอดเงินเยียวยา เหยื่อแผ่นปูนถล่ม พระราม 2 เสียชีวิต 6 ราย

เปิดยอดเงินเยียวยา เหยื่อแผ่นปูนถล่ม พระราม 2 เสียชีวิต 6 ราย

29 พ.ย. 2567

เปิดยอดเงินเยียวยา ผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นปูนถล่ม พระราม 2 รวม 6 ราย ระดมรถเครนกู้ซาก เพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตที่ติดค้างอยู่ออกมา

29 พ.ย. 2567 จากเหตุ แผ่นปูนถล่ม บริเวณจุดก่อสร้างทางยกระดับ ถนนพระราม 2 ขาออกกรุงเทพฯ หมู่ 2 ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตอนที่ 1 ช่วงที่ 3 พื้นที่ กม.21+600 – กม.22+100 ถล่มลงมา เป็นเหตุให้มี ผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 9 คน โดยขณะเกิดเหตุมีคนงาน 39 คน เหตุเกิดเมื่อเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา

 

หลังเกดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นที่เกิดเหตุ เนื่องจากตัวเครนค้างอยู่ ในสภาพไม่ปลอดภัย เพราะยังมีเสียงลั่นออกมาจากจุดเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง

เปิดยอดเงินเยียวยา เหยื่อแผ่นปูนถล่ม พระราม 2 เสียชีวิต 6 ราย

 

นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกับประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการรื้อเศษซากเครนและชิ้นส่วนที่พังถล่ม

 

โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์อีกครั้งในเวลา 13.30 น. ขณะนี้ได้เรียกรถเครน 3 คัน ขนาด 400 ตัน , 360 ตัน และ 240 ตัน อย่างละ 1 คัน มาดำเนินการรื้อซากเครน จะเริ่มดำเนินการในเวลา 15.00 น. วันนี้

ส่วนเงินเยียวยานั้น ผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นรายละ 860,000 บาท

 

โดยรายชื่อผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย

 

  1. นายอภิวัฒน์ พะพันทาง อายุ 30 ปี สัญชาติไทย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ศพอยู่ รพ.สมุทรสาคร
  2. นายสุทัศน์ บุญเรือง อายุ 31 ปี สัญชาติไทย เสียชีวิตที่ รพ.สมุทรสาคร
  3. นายเอยา อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา เสียชีวิต ที่ รพ.สมุทรสาคร
  4. นายชิต โกโก สัญชาติเมียนมา เสียชิวิต ในที่เกิดเหตุ ยังนำร่างออกมาไม่ได้
  5. นายเพียว โกโก สัญชาติเมียนมา ผู้สูญหาย คาดว่าเสียชีวิต
  6. นายอ่อง เทียน เท สัญชาติเมียนมา ผู้สูญหาย คาดว่าเสียชีวิต

 

ส่วนผู้รับบาดเจ็บจะได้รับสิทธิ์การรักษาจากประกันสังคม จนกว่าจะหายเป็นปกติ ในส่วนของบริษัทต้นสังกัดของคนงาน ก็จะมีการช่วยเหลือเยียวยาอีกทางหนึ่งด้วย

 

เปิดยอดเงินเยียวยา เหยื่อแผ่นปูนถล่ม พระราม 2 เสียชีวิต 6 ราย

 

ด้าน นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุเป็นการใช้เครน ที่เรียกว่า ลอนช์เช่อ ยกชิ้นส่วนคอนกรีต ซึ่งเรียกว่า เซกเมนต์ ขึ้นไปบนตอม่อ แต่เกิดอุบัติเหตุพังถล่มลงมา จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

 

ส่วนการกู้เศษซากความเสียหายนั้น ยอมรับว่า เป็นงานละเอียด ต้องใช้เวลาหลายวัน ส่วนการกู้นำศพผู้เสียชีวิตที่ติดค้าง ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน ว่ามีความปลอดภัยจึงจะนำศพออกมาได้  ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้เช่นกัน