เหยื่อ 200 คน ร้องปวีณาช่วย โดนบริษัทหลอกปิดหนี้ แต่กลับเป็นหนี้กว่า 1.4 พันล้าน
200 ผู้เสียหาย ร้องปวีณา ช่วยเหลือ โดนบริษัทหลอกปิดหนี้ แต่ให้ร่วมโครงการกู้ซื้อคอนโดฯ สุดท้ายบริษัทชักดาบ มีหนี้ก้อนโตยอดรวมกว่า 1.4 พันล้าน บางคนถึงขั้นคิดสั้น
7 ธ.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ที่มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี จ.ปทุมธานี ตัวแทนผู้เสียหายกว่า 200 ราย จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ทำธุรกิจส่วนตัว ผู้บริหาร และข้าราชการ เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยเหลือ โดยระบุว่า ถูกบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี หลอกปิดหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน และรถยนต์ ที่ผ่อนอยู่ โดยการรวมยอดหนี้ปิดให้ทีเดียว แต่ต้องร่วมโครงการกู้ซื้อคอนโดฯ กับบริษัท ในการยื่นกู้ธนาคารเพื่อซื้อคอนโดมิเนียม จะได้มาผ่อนรายเดือนกับบริษัท และผ่อนคอนโดฯ หากกู้ซื้อ 3 ห้อง ผู้เสียหายจะผ่อนแค่ห้องเดียว อีก 2 ห้องบริษัทจะเป็นคนจ่าย เมื่อครบสัญญาจะซื้อคืน
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ กลับต้องเป็นหนี้ธนาคาร มีชื่อในการกู้ซื้อคอนโดฯ กันคนละ 3-5 ห้อง ทั้งที่บางคน เงินเดือนแค่ 2-3 หมื่นบาท แต่กลับต้องเป็นหนี้หลายล้าน มากสุดถึง 25 ล้าน สุดท้ายบริษัทปิดตัวหนีหาย ติดต่อไม่ได้ หลายคนเครียดจัดจนคิดฆ่าตัวตาย เพราะถูกธนาคารทวงหนี้ ฟ้องยึดทรัพย์บังคับคดี ความเสียหายนับพันล้าน ข้อมูลขณะนี้มีผู้เสียหาย 200 กว่าราย แต่ที่สรุปข้อมูลเป็นทางการ 103 ราย กู้ซื้อคอนโดมิเนียม/ห้องชุด 414 ห้อง กู้ซื้อกับธนาคาร 8 แห่ง ปัจจุบันบริษัทไม่จ่ายเงินค่าผ่อนซื้อ ผู้เสียหาย 103 คน จึงเป็นหนี้ 1,470 ล้านบาท
น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 31 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ผู้เสียหาย กล่าวว่า มีเงินเดือน 4 หมื่นกว่า และมีหนี้สินจากบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ประมาณ 900,000 บาท และที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากกว่าเงินเดือนมาก ช่วงปี 2566 จู่ๆ มีโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่า เป็นบริษัทแห่งหนึ่ง และสอบถามว่าเรามีหนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถใช่หรือไม่ ตนไม่ทราบว่าบริษัทแห่งนี้รู้ข้อมูลส่วนตัวได้อย่างไร และเขาก็มีข้อเสนอจะให้รวมหนี้ทั้งหมดและปิดหนี้ให้ โดยให้มาผ่อนกับบริษัทรายเดือนที่เดียว เพื่อจะได้ผ่อนสบายๆ ตนก็สนใจเดินทางไปที่บริษัทซึ่งตั้งอยู่ย่านคูคต จ.ปทุมธานี ลักษณะเป็นตึกแถว 2 คูหา เข้าไปมีพนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำต่างๆ แจ้งว่าจะปิดหนี้ให้ทั้งหมด
และแนะนำชักชวนให้เป็นผู้ร่วมลงทุนซื้อขายคอนโดมิเนียมในระยะเวลา 2-5 ปี จนเสร็จสิ้นโครงการ หลังตกลงใจให้บริษัทปิดหนี้ ทางบริษัทได้พาไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.คูคต โดยระบุว่าบริษัทได้มอบเงินให้ไปปิดหนี้ทั้งหมด และสัญญาจะร่วมกับบริษัทจนเสร็จสิ้นโครงการ จากนั้นบริษัทก็ปิดหนี้ 900,000 บาทให้จริง โดยทำสัญญาผ่อนจ่ายรายเดือน และห้ามให้ตนกู้เงินอะไรอีก เพราะต้องการให้เครดิตบูโรไม่มีหนี้สิน
หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน เมื่อเครดิตดี บริษัทให้เซ็นเอกสารกู้ซื้อคอนโดฯ โดยให้เซ็นไว้หลายชุด โดยบริษัทอ้างว่าจะยื่นกู้ซื้อคอนโดฯ 5-7 แบงก์ ในช่วงเวลาเดียวกัน ตอนแรกก็เข้าใจว่าซื้อคอนโดฯ ห้องเดียว มารู้ทีหลังบริษัทแจ้งว่ากู้ซื้อคอนโดฯ ถึง 5 ห้อง ราคาห้องละ 2-5 ล้านบาท ตนต้องเป็นหนี้ถึง 16 ล้านบาท บริษัทได้บังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันยอดหนี้กับธนาคารด้วย โดยจำนวนเงินที่จ่ายค่าประกันก็มารวมกับยอดหนี้ที่ตนมาเป็นหนี้กับบริษัทที่ต้องผ่อนรายเดือนด้วย บริษัทได้ทำสัญญาว่าให้ตนผ่อนคอนโดฯ 1 ห้อง ส่วนอีก 4 ห้อง ทางบริษัทจะเป็นคนผ่อนกับธนาคาร เมื่อครบสัญญา 5 ปี บริษัทจะซื้อคืน ส่วนเงินที่ผ่อนคอนโดฯ ของตนก็จะไปหักกับยอดหนี้ทางบริษัท ผ่านมา 1 ปี เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567 จู่ๆ ธนาคารก็โทรมาทวงถามเพราะบริษัทไม่จ่ายค่างวด ตนจึงรู้ว่าถูกหลอกแล้ว และต้องเป็นหนี้ถึง 16 ล้านบาท ไม่รู้จะทำอย่างไร เครียดจัดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องพบหมอจิตแพทย์ และจะผูกคอตายหนีปัญหา แต่ได้ลองโทรมาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิปวีณาฯ ได้พูดคุยกับนางปวีณา จึงเริ่มจะมีความหวังที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
น.ส.บี (นามสมมุติ) อายุ 38 ปี ผู้เสียหายอีกราย กล่าวว่า มีหนี้สินจากบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ประมาณ 600,000 บาท ทางบริษัทโทรมาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการปิดหนี้มีเงินเหลือ ตนสนใจเพราะต้องผ่อนรายเดือนหนักมากจะไม่ไหว อยากจะผ่อนสบายๆ พอตกลงกู้ ก็ต้องกลายเป็นผู้กู้ซื้อคอนโดฯ 3 ห้อง เป็นหนี้ 7 ล้านบาท โดยบริษัทปิดหนี้ให้ 680,000 บาท และสุดท้ายบริษัทแจ้งมาว่าจะต้องยุติการผ่อน จ่ายค้างค่างวดธนาคาร 14 งวด ค้างค่าส่วนกลางคอนโดฯ 3 ห้อง กลายเป็นว่าตนต้องรับสภาพ ทุกวันนี้ไม่มีทางออกเครียดมาก
ขณะที่ น.ส.ซี (นามสมมุติ) อายุ 37 ปี ผู้เสียหายอีกราย กล่าวว่า ค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่าบริษัทนี้มีกรรมการอยู่ 2 คน ทุนจดทะเบียน 55 ล้านบาท เปิดมาหลายปีตั้งแต่ปี 55 เมื่อหลงเชื่อ กลับเป็นหนี้ 15 ล้านบาท
ด้านน.ส.นันท์วาภัทร นพชัยกิตติยุต ทนายความ กล่าวว่า บริษัทแห่งหนี้ทำในรูปแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เมื่อผู้เสียหายไปถึงจะทำเรื่องให้เบ็ดเสร็จทุกอย่าง บริษัทจะยื่นกู้ 1 ห้อง ต่อ 1 แบงก์ และได้ส่วนต่างที่กู้ได้โอเวอร์ ทางแบงก์จะโอนเงินไปให้ผู้เสียหาย ทางบริษัทก็ติดตามให้ผู้เสียหายโอนให้กับบริษัท ตอนนี้เบื้องต้นผู้เสียหายเป็นหนี้กับธนาคารคนละ 14 ล้านบาท จากที่เป็นหนี้หลักแสน
มีผลกระทบกับผู้เสียหายใน 2 ลักษณะ 1.เมื่อครบสัญญาแต่ไม่มีการซื้อคืนตามสัญญาที่ตกลง ตั้งแต่ปี 2561-2564 ผู้เสียหาย 39 ราย คอนโดฯ จำนวน 154 ห้อง มูลค่าความเสียหาย 539 ล้านบาท 2.ยังไม่ครบสัญญาแล้วบอกเลิกสัญญาก่อน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน ผู้เสียหาย 64 ราย คอนโดฯ จำนวน 260 ห้อง มูลค่าความเสียหาย 931 ล้านบาท
หลังรับเรื่อง นางปวีณา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เห็นใจผู้เสียหายทุกคนที่ถูกหลอก จนเป็นหนี้มหาศาล ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำแบบนี้ต้องทำเป็นขบวนการ ทั้งบริษัทนายหน้าที่ชักชวนปิดหนี้ให้ และโครงการคอนโดฯ ที่กู้ซื้อ เพราะทุกอย่างมีการวางระบบยื่นกู้ง่าย ธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อคอนโดฯ ง่าย คอนโดฯ บางแห่งกู้ได้มากว่าราคาประเมิน
จึงอยากฝากถึงผู้บริหารธนาคารต่างๆ ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ และเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว อยู่ดีๆ มีหนี้นับสิบล้าน จากที่เคยคิดจะปิดหนี้กลับมาต้องเป็นหนี้สินนับสิบล้าน ถูกฟ้องร้อง บังคับคดี ยึดทรัพย์ ทุกข์หนักกว่าเดิม ทั้งนี้ จะประชุมหารือเพื่อพาผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการปราบปราม หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)